นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก รักษา "โขง" ลูกเสือโคร่งของกลาง เพศผู้ ชื่อโขง จากการพบความผิดปกติบริเวณขาหน้าข้างซ้าย (ศอกซ้าย) หรือเรียกว่า Hygroma เป็นก้อนลักษณะนิ่ม ขนาด 9 เซนติเมตร เนื่องจากการนอนกดทับบนพื้นปูนเป็นประจำ
สัตวแพทย์ใช้เครื่องแมคเนโต ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษา ลดอาการบวม-อักเสบ และลดปวด โดยให้ลูกเสือโคร่งนอนทับแผ่นปล่อยคลื่นแม่เหล็กแม่ไฟฟ้า ตามโปรแกรมการรักษาที่ตั้งไว้กับตัวเครื่อง
ในการรักษาช่วงระยะเวลา 10 วัน พบว่าก้อนบวม (Hygroma) ที่ผิดปกติ มีลักษณะนิ่มมากกว่าเดิม และรูปลักษณะย้อยตัว ไม่เป็นก้อนกลมเหมือนที่ตรวจพบในครั้งแรก ไม่พบความเจ็บปวด ขนาดของก้อนบวมลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมีของเหลวอยู่ภายในก้อนบวม
จากนั้นสัตวแพทย์ปรับแผนการรักษาเพิ่มเติม โดยใช้วิธีการเจาะดูดรักษา ก้อนบวมมีลักษณะนิ่มมาก และลักษณะย้อยลงมาจากเดิมมาก เนื่องจากการใช้เครื่องแมคเนโตในการลดอักเสบในการรักษาช่วงแรก จึงง่ายต่อการเจาะดูดรักษา ต่อมาได้พ่นยาชาเฉพาะบริเวณก้อนบวม และเจาะดูดเพิ่มเติมจนของเหลวในก้อนบวมยุบลงจนเป็นปกติ พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะ และยาลดปวด ลดอักเสบ ต่อเนื่องจนครบโปรแกรมการรักษา
นอกจากนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มแคร่ไม้ในคอกนอนของลูกเสือโคร่งทั้งหมดภายในศูนย์ฯ เพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูน ป้องกันภาวะก้อนบวมขึ้นอีก
ทั้งนี้ ลูกเสือโคร่งของกลาง ทั้ง 4 ตัว คือ ขิง ข้าว โขง และขวัญ อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ขณะนี้ทุกตัวมีพฤติกรรมร่าเริง มีความสนใจสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) ตามปกติ โดยไม่พบความเครียด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รักษาลูกเสือโคร่ง "โขง" พบก้อนบวมบนข้อศอก-ขาหน้า
อัปเดตชีวิต "พี่ขวัญ" และ "น้อง 3 ข." ลูกเสือโคร่งของกลางบึงฉวาก
ราบรื่น ย้าย "3 ลูกเสือโคร่ง" ถึงบึงฉวาก ใช้เวลา 8 ชม.