ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฮือฮา "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" อายุ 2.3 แสนปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย

Logo Thai PBS
ฮือฮา "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" อายุ 2.3 แสนปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พบซากดึกดำบรรพ์ "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" สายพันธุ์ใหม่ของโลก จากบ้านเหลี่ยม จ.นครราชสีมา อายุ 230,000 ปีก่อนตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports เร่งไขปริศนาเส้นทางอพยพลังพบมี 2 สายพันธุ์ในอเมริกา และจีน

วันนี้ (18 ต.ค.2566) นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงการค้นพบซากอัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล อายุ 230,000 ปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย จากบ้านสี่เหลี่ยม ต.ใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

นายปรีชา สายทอง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีเรื่องการค้นพบซากอัลลิเกเตอร์ชนิดใหม่ของโลก หลังจากชาวบ้านแจ้งค้นพบหัวกะโหลกสัตว์ชนิดหนึ่งตั้งแต่ปี 2548  ในระหว่างการขุดบ่อขนาด 8X8x4 เมตร ซึ่งจุดพบซาก 2 เมตร

ซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ชนิดใหม่ของโลกในไทย พบจากบ้านเหลี่ยม จ.นครราชสีมา

ซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ชนิดใหม่ของโลกในไทย พบจากบ้านเหลี่ยม จ.นครราชสีมา

ซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ชนิดใหม่ของโลกในไทย พบจากบ้านเหลี่ยม จ.นครราชสีมา

จากนั้นกรมทรัพยากรธรณี นำมาศึกษาวิจัย เพื่อตรวจสอบใช้เวลานานหลายปี มีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ จนพบว่าเป็นอัลลิเกเตอร์ชนิดใหม่ของโลก และเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports ซึ่งใช้เวลาในการยืนยันถึง 18 ปี 

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ชนิดใหม่ของโลก

ด้าน ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาร่วมทีมนักวิจัย Dr.Gustavo Darlim จากเยอรมนี ได้ขอเข้ามาศึกษาตัวอย่างนี้เมื่อปี 2565 ผลการศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และ อัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis)

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล (Alligator munensis) พบซากดึกดำบรรพ์อยู่ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่า

ลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้น บ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1-2 เมตร

หัวกะโหลกอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล อายุ 230,000 ปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย

หัวกะโหลกอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล อายุ 230,000 ปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย

หัวกะโหลกอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล อายุ 230,000 ปี ชนิดใหม่ของโลกในไทย

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่าอัลลิเกเตอร์ทั้ง 2 ชนิด อาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซี และลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

อัลลิเกเตอร์ มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แต่แตกต่างกันตรงที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู (U) ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี (V) และเมื่อปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะเห็นเฉพาะฟันบนหรือแทบไม่เห็นเลย

สภาพบ่อน้ำที่ขุดพบอัลลิเกเตอร์ ควายป่า กวางป่า

สภาพบ่อน้ำที่ขุดพบอัลลิเกเตอร์ ควายป่า กวางป่า

สภาพบ่อน้ำที่ขุดพบอัลลิเกเตอร์ ควายป่า กวางป่า

ทั่วโลกเหลืออัลลิเกเตอร์แค่ 2 สายพันธุ์

โดยในปัจจุบันพบจระเข้ มีหลายสายพันธุ์และพบได้เกือบทั่วโลก ในขณะที่อัลลิเกเตอร์พบเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้น คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) พบเฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) พบเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซี ประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

เป็นคำถามที่ยังเป็นปริศนาว่าในทำไมถึงมีอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลในไทย  เพราะส่วนใหญ่จะพบเพียงอเมริกา และในจีน และเมื่อตรวจสอบลักษณะพิเศษของซากตัวนี้พบว่าฟันหน้าปากที่เล็กไม่มีร่องฟัน และกินพวกสัตว์เปลือกแข็ง เพราะปกติจะไม่กิน  

นอกจากนี้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมหลังจากพบว่าในพื้นที่ดังกล่าว มีซากกระดูกที่ค้นพบในบ่อน้ำที่ขุดพบว่ามีทั้งควายป่า และกวางป่า อายุที่แก่สุด 200,000 ปีและยังมีเครื่องปั้นดินเผาโบราณ และมีความเป็นไปได้ที่อัลลิเกเตอร์เคยอาศัยร่วมกับมนุษย์ในยุคนั้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และถูกล่าในอดีต

ปัจจุบันข้อมูลด้านการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ ระหว่างเอเชีย และ อเมริกา ยังคงเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และมีเส้นทางการอพยพเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นเคยกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง