ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก หลังเกิดกระแส เสือเฒ่าบ้านริมคลอง “อาเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตหัวหน้าพรรคมวลชน ในฐานะ สส.บัญชีรายพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศตัดสัมพันธ์ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ
ในวัย 76 ปีของ “อาเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม และวัย 74 ปี ของ “ทักษิณ” หากย้อนสายสัมพันธ์ในอดีตคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งบุคคลทั้งสองได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างมากมาย นับตั้งแต่ “ทักษิณ” ยังเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เข้าสู่แวดวงการเมือง หากเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคม ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล อสมท. ในปี 2532 จนได้รับฉายาว่า “เหลิมดาวเทียม”
ด้วยบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นในยุคนั้น “อาเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม คือ ผู้อนุมัติให้บริษัท IBC เคเบิลทีวี ได้รับสัญญาสัมปทานประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมี อสมท.เป็นเจ้าของ
กระทั่งเกิดเหตุรัฐประหาร 2534 สมัย รสช.และ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ถูกยึดทรัพย์ จนต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศเดนมาร์ก ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังทำธุรกิจเช่นเดิมและเริ่มเข้าสู่แวดวงทางการเมืองแล้ว
ปี 2538 สถานการณ์เมืองคลี่คลาย ร.ต.อ.เฉลิม กลับเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง และเป็น รมว.ยุติธรรมในสมัยรัฐบาลบรรหาร ขณะที่ปี 2537 “ทักษิณ” โดดลงบนถนนการเมืองเต็มตัวในสังกัดพรรคพลังธรรม
ปี 2540 ร.ต.อ.เฉลิม ตัดสินใจยุบพรรคมวลชนไปรวมกับพรรคความหวังใหม่ของ “พ่อใหญ่จิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่วน “ทักษิณ” ลาจากพรรคพลังธรรมมาตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2541 ต่างฝ่ายต่างทำการเมืองของตนเองไป
ปี 2549 หลังเกิดเหตุรัฐประหาร “ทักษิณ” ต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศ ทาง ร.ต.อ.เฉลิม ได้ตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชาชน ที่มี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เป็นหัวหน้าพรรค และย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2550 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน
หากนับความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ-เฉลิม” ที่ต่างฝ่ายต่างรู้จักมักคุ้น ตั้งแต่ปี 2532-ปัจจุบัน เกือบ 34 ปี บนถนนการเมือง ซึ่งมีการไปมาหาสู่ตลอด แม้ช่วงที่ทักษิณลี้ภัยอยู่ต่างประเทศถือว่าเป็นระยะเวลานานพอสมควร
ไม่เช่นนั้น “ภูมิธรรม เวชยชัย” ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ คงจะไม่ออกมาระบุว่า
“..ร.ต.อ.เฉลิม อยู่กับพรรคเพื่อไทยมานาน นายทักษิณ และ ร.ต.อ.เฉลิม มีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ร.ต.อ.เฉลิม ยังเป็นที่เคารพของคนในพรรค และเป็นผู้ที่มีบทบาทในพรรคอยู่ ผมจะหาโอกาสพบกับ ร.ต.อ.เฉลิม ในเร็ว ๆ” ภูมิธรรม กล่าว
ก่อนจะตบท้ายว่า “ตอนนี้ท่านทักษิณยังอยู่ในโรงพยาบาล ยังติดต่ออะไรไม่ได้ จึงสงสัยอยู่ว่าเขาไปได้ยินสิ่งที่ ทักษิณพูดได้อย่างไร”
ยังไม่ชัดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นแค่การโยนหินถามทางหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจัดรัฐบาลเพื่อไทย “เศรษฐา1 บทบาทของ “อาเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม ถูกกลืนหายไปพร้อมๆ กับ “วัน อยู่บำรุง” ที่พ่ายในสนามเลือก สส.เขตให้ “ไอซ์” รัชนก ศรีนอก จากพรรคก้าวไกล
นอกจากอาการป่วยด้วยหลายโรครุมเร้าตามเอกสารโรงพยาบาล ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ไปรักษาตัวออกมาเผยแพร่ ทั้ง โรคหัวใจเต้นผิดปกติ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีเส้นเลือดในสมองตีบ เครียดจากการทำงาน เป็นผลให้ “อาเหลิม” ไม่ได้เดินทางช่วยยกมือโหวตนายกฯ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะไม่ใช้ข้อขัดแย้งจนทำให้เกิดอาการสะบั้นรักกันกลางคัน
แต่หากจับอากัปกิริยาและถ้อยคำการโพสต์เนื้อเพลงผ่านเฟซบุ๊กของ “วัน อยู่บำรุง” ก็มองข้ามไม่ได้
เมื่อวันที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน จนบางครั้งคนเราไม่ทันได้ตระเตรียม...หัวใจ
ตระกูล “อยู่บำรุง” ประจบสอพลอใครไม่เป็น รวมทั้งการขึ้นภาพพื้นสีดำ มีรูปอีโมจิ และเขียนคอมเมนต์สั้นๆ “อึดอัดใจจัง” จะตีความทางการเมืองอื่นใดได้มากไปกว่านี้หรือไม่
โดยเฉพาะการนำภาพโลโก “พรรคมวลชน” หรือ MASS PARTY เพื่อต้องการสื่อ หรือแสดงนัยจะแยกตัว ฟื้นพรรคฯกลับมาสู้ต่อในสนาม กทม.ยังเป็นปริศนา
แต่การยืนยันจาก “ภูมิธรรม” ที่ว่า เสร็จนา ไม่ได้ฆ่าโคถึก เสร็จศึก ยังไม่ได้ฆ่าขุนพล คู่ขนานกับถ้อยคำ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า การแต่งตั้งยังไม่จบ ทยอยไปเรื่อยๆ เห็นได้จากการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง ก็มีการคัดสรรที่ดีและมีหลายพรรคการเมืองร่วมด้วย ก็คงต้องค่อยๆ ทยอยออกมา
เสมือนหนึ่งพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ปิดประตูการเมือง หันหลังให้กับตระกูล “อยู่บำรุง” เสียทีเดียว โดยการเปิดทางคัดสรรตำแหน่งเพื่อเยียวยารักษา “อาการงอน” ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
นับจากนี้จะต้องรอดูว่า พรรคเพื่อไทย-ทักษิณ จะหาญกล้า ตัดสัมพันธ์-สะบั้นรัก กับ ร.ต.อ.เฉลิม “ขุนพลเก่า” เสือเฒ่าแห่งบ้านริมคลองหรือไม่ เพราะแม้วันนี้วัยจะโรย แต่ฝีปาก ข้อมูลและลีลาการตอบโต้ในสภา คงไม่อยากมีใครอาจหาญกล้าไปปะทะ
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ก็ตาม ดังสมญานามในอดีต “ไปทะเล เจอฉลาม ...มาสภา เจอเฉลิม”