ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดตัวมาสคอต 3 แบบ แห่ง“เอเชียนเกมส์ 2022” สะท้อนความเป็นหางโจว

กีฬา
17 ก.ย. 66
12:52
2,857
Logo Thai PBS
เปิดตัวมาสคอต 3 แบบ แห่ง“เอเชียนเกมส์ 2022” สะท้อนความเป็นหางโจว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จีนเปิดตัวมาสคอตแห่งเอเชียนเกมส์ 2022 จำนวน 3 แบบ เผยสะท้อนความเป็นมรดกโลกของหางโจว และความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต

นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา “เอเชียนเกมส์” จีนเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ครั้งแรกเมื่อปี 1990 ที่กรุงปักกิ่ง และครั้งที่ 2 ปี 2010 ที่เมืองกว่างโจว และครั้งนี้ ปี 2022 เป็นเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.- 8 ต.ค.2023

สำหรับ Mascot หรือ ตัวนำโชค ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 คือ “หุ่นยนต์กีฬาสามตัว” ซึ่งเป็นตัวแทนแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ในเมืองหางโจว ได้รับการเปิดตัวเป็นมาสคอตอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในพิธีเปิดตัวแบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563

สำหรับแหล่งมรดกโลกของเมืองหางโจว ได้รับการประกาศ วันที่ 24 มิ.ย.2554 ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 35 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า ทะเลสาบซีหู เมืองหางโจว เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมของทัศนียภาพทางวัฒนธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสวยงามแบบจีน และมีอิทธิพลต่อการออกแบบสวนในโลกอย่างลึกซึ้ง

หุ่นยนต์กีฬาสามตัวนี้ เรียกรวมกันว่า “สมาร์ททริปเล็ทส์” (Smart Triplets) สะท้อนถึงความความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ตของเมืองหางโจว และมณฑลเจ้อเจียง

มาสคอตตัวแรก หุ่นยนต์ “คองคอง” เป็นตัวแทนของซากเมืองโบราณเหลียงจู่ ชื่อของมันมาจากจี้หยก “คอง” (Cong) ซึ่งถูกขุดพบในซากปรักหักพังของเมือง เมืองโบราณเหลียงจู่ มีอายุเก่าแก่นับย้อนไปได้ถึง 5,000 ปี โดยมาสคอตตัวนี้ใช้สีเหลืองซึ่งเป็นสีของดินและความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นโทนสีหลัก

มาสคอตตัวที่สอง หุ่นยนต์ “เหลียนเหลียน” เป็นตัวแทนของทะเลสาบฝั่งตะวันตก และชื่อของมันมีความหมายถึงทะเลสาบที่เต็มไปด้วยใบบัวที่เขียวชอุ่ม ซึ่งสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และธรรมชาติ

มาสคอตตัวที่สาม หุ่นยนต์ “เฉินเฉิน” เป็นตัวแทนของคลองขุด ที่เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองหางโจว ชื่อนี้มาจากชื่อ “สะพานกงเฉิน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคลองขุดฝั่งเมืองหางโจว มาสคอตตัวนี้มีสีฟ้า ซึ่งแสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มาสคอตเหล่านี้รวมเข้ากับตราสัญลักษณ์ และสโลแกนของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์หางโจว ได้อย่างภาคภูมิ เป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับเสน่ห์ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์หางโจว และจะต้องเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนในเอเชีย

ราจา รานธีร์ ซิงห์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน กล่าวแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันในพิธีเปิดตัวมาสคอตว่า มาสคอตเหล่านี้เป็นตัวแทนของความปราดเปรื่องของโลกยุคใหม่ และเป็นพลังงานของโลกอนาคต ทั้งยังเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกีฬาเอเชียนเกมส์

มาสคอตเหล่านี้มีชีวิตชีวาและมีความหมายมากมาย เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีน คุณลักษณะของเมืองหางโจว ตลอดจนจิตวิญญาณของกีฬาเอเชียนเกมส์ และทวีปเอเชีย

คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้รับตัวอย่างการออกแบบมาสคอตจำนวน 4,633 ชิ้น และผลงานหุ่นยนต์สามตัวนี้เป็นการสร้างสรรค์ของ จางเหวิน และ หยางหงยี่ ซึ่งทั้งสองคน เป็นอาจารย์จากสถาบันศิลปะจีน (China Academy of Art)

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์การกีฬาแห่งประเทศไทย https://www.sat.or.th/2020

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19" จัดที่ไหน-เริ่มเมื่อไหร่

รวม 11 มาสคอตเอเชียนเกมส์ สีสันของเกมส์กีฬา สัญลักษณ์สะท้อนยุคสมัย

“เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19” มีกีฬาแข่งขันกี่ชนิด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง