มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 จัดขึ้นที่เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน หลังจากเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์มาแล้วเมื่อปี 1990 ที่กรุงปักกิ่ง และในปี 2010 ที่เมืองกว่างโจว
ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อว่า “เอเชียนเกมส์ 2022” แต่กลับมาแข่งในปี 2023 เนื่องจาก เมื่อปี 2022 ยังคงมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงมีมติให้เลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน และเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 เบาบางลง จึงจัดการแข่งขันในปีนี้ แต่ยังคงใช้ปีการแข่งขันเดิมคือ 2022
เอเชียนเกมส์เคยจัดที่ไหนบ้าง
ก่อนหน้านี้ เคยมีการแข่งขันเอเชียนเกมส์มาแล้ว 18 ครั้ง ครั้งที่ 1 ปี 1951 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ครั้งที่ 2 ปี 1954 กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 3 ปี 1958 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ปี 1962 กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 5 ปี 1966 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ปี 1970 กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ครั้งที่ 7 ปี 1974 กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ครั้งที่ 8 ปี 1978 กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 9 ปี 1982 กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ครั้งที่ 10 ปี 1986 กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ครั้งที่ 11 ปี 1990 กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 12 ปี 1994 เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 ปี 1998 กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ครั้งที่ 14 ปี 2002 เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 ปี 2006 เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ครั้งที่ 16 ปี 2010 เมืองกว่างโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 17 ปี 2014 เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ครั้งที่ 18 ปี 2018 กรุงจาการ์ตา และเมืองปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 มีระยะเวลาการแข่งขันเท่าไร
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือ “หางโจวเกมส์” เริ่มต้นการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. โดยเป็นการแข่งขันฟุตบอลชายในรอบแบ่งกลุ่ม ส่วนพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2566 และจะแข่งขันกันเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ กระทั่งเข้าสู่พิธีปิดการแข่งขันในวันที่ 8 ตุลาคม 2566
สนามหางโจว โอลิมปิก สปอร์ต เซ็นเตอร์
โดยพิธีเปิดและปิดถูกจัดขึ้นที่สนามหางโจว โอลิมปิก สปอร์ต เซ็นเตอร์ หรือสนามดอกบัวยักษ์ ที่จุผู้ชมได้กว่า 80,000 ที่นั่ง
สโลแกนและสัญลักษณ์ประจำเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19
เจ้าภาพจีนใช้สโลแกนประจำเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ว่า Heart to Heart@future สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในทวีปเอเชีย ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์
สัญลักษณ์เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
ส่วนโลโก้หรือสัญลักษณ์ของการแข่งขัน มีชื่อเรียกว่า Tides Surging โดยออกแบบให้มีเส้นสายคล้ายพัดจีน และแม่น้ำเฉียนถัง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน แถมยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง โดยสัญลักษณ์ Tides Surging ยังได้รับการพัฒนาต่อเป็น Pictogram หรือสัญลักษณ์ประเภทกีฬาที่ใช้แข่งขันในครั้งนี้ด้วย
มาสคอตประจำเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่จะขาดไปไม่ได้คือ “มาสคอต” หรือตัวนำโชคประจำการแข่งขัน เจ้าภาพจีนใช้มาสคอตเป็นหุ่นยนต์กีฬา 3 ตัว เรียกรวมกันว่า สมาร์ททริปเล็ทส์ (Smart Triplets) สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางอินเทอร์เนตของเมืองหางโจว
ภาพมาสคอตทั้ง 3 ตัวของเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
โดยหุ่นยนต์ตัวแรกมีชื่อว่า เฉินเฉิน (Chenchen) เป็นชื่อจากสะพานกงเฉิน สัญลักษณ์สำคัญของเมืองหางโจว หุ่นยนต์ตัวต่อมามีชื่อว่า คองคอง (Congcong) เป็นหุ่นยนต์สีเหลือง คำว่า cong เป็นชื่อของจี้หยกที่มีอายุเก่าแก่กว่า 5,000 ปี และมาสคอตตัวสุดท้าย เป็นหุ่นยนต์สีเชียว มีชื่อว่า เหลียนเหลียน (Lianlian) ชื่อนี้หมายถึงทะเลสาบที่เต็มไปด้วยใบบัว สื่อถึงความสงบสุข
สัญลักษณ์ของเหรียญรางวัล เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
เหรียญรางวัลประจำเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 มีชื่อเรียกว่า “ชาน ฉ่วย” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหยกอี้ฉง ซึ่งเป็นเครื่องประดับโบราณของจีน
เหรียญรางวัลประจำเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
โดยลวดลายบนเหรียญรางวัลเป็นรูป “ทะเลสาบและภูเขา” ความน่าสนใจอีกประการของเหรียญรางวัลนี้ คือมีลักษณะเป็นเหลี่ยมในวงด้านนอกของเหรียญ ส่วนด้านในยังคงลักษณะวงกลมตามปกติเช่นเดิม
มีนักกีฬาจากกี่ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 มีชาติในเอเชียเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 45 ชาติ โดย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สิงคโปร์ และไทย เป็น 7 ชาติที่เข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์ครบทั้ง 19 ครั้ง
นักกีฬาที่เคยเข้าร่วมในเอเชียนเกมส์
ในส่วนของจำนวนเหรียญทองที่ชิงชัย มีจำนวนทั้งสิ้น 481 เหรียญ จากกีฬา 40 ชนิด โดยกรีฑา เป็นประเภทกีฬาที่ชิงชัยเหรียญทองมากที่สุด 48 เหรียญ
การวิ่งคบเพลิงในจีน สัญลักษณ์การเริ่มต้นกีฬาเอเชียนเกมส์
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ใช้เมืองหาวโจว และอีก 5 เมือง ได้แก่ หนิงโป เวินโจว จินหัว เส้าซิง และหูโจว เป็นสถานที่ในการแข่งขัน โดยใช้สนามกีฬาทั้งหมด 56 แห่ง เจ้าภาพจีนลงทุนไปกับการแข่งขันครั้งนี้ราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4.9 หมื่นล้านบาท
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 มีจำนวนนักกีฬาเท่าไร
เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีนักกีฬาเข้าแข่งขันมากที่สุด โดยมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 12,500 คน มากกว่าเอเขียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย ที่มีนักกีฬาเข้าร่วมราว 11,300 คน
จีนส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด มากกว่า 900 คน ด้านอินเดีย ส่งนักกีฬาเข้าร่วม 653 คน อินโดนีเซีย 415 คน ส่วนทัพนักกีฬาไทยเข้าร่วมมหกรรมครั้งนี้ 940 คน
พร้อมส่งใจแรงเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เพื่อคว้าเหรียญรางวัลมาครอง 19 ก.ย.-8 ต.ค.66 นี้
เช็ก โปรแกรมถ่ายทอดสดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
ติดตามข้อมูล ข่าวสาร อัปเดตผลการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
www.thaipbs.or.th/AsianGames2022
อ้างอิง :
-www.hangzhou2022.cn
-www.facebook.com/19thAGHZ2022
-www.apnews.com
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัวมาสคอต 3 แบบ แห่ง“เอเชียนเกมส์ 2022” สะท้อนความเป็นหางโจว