"ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถามความเห็นข้าราชการบางส่วน ต่อกรณี ครม.มีมติเห็นชอบแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ แม้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการบริหารรายจ่าย
ข้าราชการ ระดับปฏิบัติการคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ โดยระบุว่า การบริหารจัดการงบประมาณต้องมีการวางแผนที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะงบบุคลากร
หากมีการแบ่งจ่ายเงินเดือน ๆ ละ 2 รอบ จะกระทบกับการจ่ายหนี้สินในแต่ละงวด เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่มีกำหนดระยะเวลาชำระเงิน ก็อาจทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระได้ทัน และหากไม่สามารถจ่ายได้ก็จะเกินกำหนดเวลาและถูกคิดดอกเบี้ยตามมา ขณะเดียวกันก็จะทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพราะกลัวเงินไม่พอ
แต่การได้รับเงินเดือนทั้งก้อนตอนสิ้นเดือน จะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินได้ ทั้งหนี้สิน เงินใช้และเงินเก็บ
ขณะที่ข้าราชการอีกคน สะท้อนว่า ช่วงต้นเดือนมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่มีระยะเวลากำหนดในการจ่าย เช่น ค่าส่วนกลางคอนโดฯ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ถ้าจ่ายช้ากว่ากำหนดจะต้องเสียค่าปรับ
แม้ส่วนตัวอาจจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะไม่มีหนี้สิน แต่รู้สึกเห็นใจคนอื่น ๆ เพราะการจ่ายหนี้ เช่น ผ่อนคอนโดฯ ผ่อนรถ หากต้นเดือนได้เงินเดือนครึ่งหนึ่ง จะเอาเงินที่ไหนไปใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมตั้งคำถามว่าการหักหนี้ต่อไปนี้จะปรับเป็น 2 รอบ ตามการเข้าของเงินเดือนหรือไม่
นอกจากนี้ยังมองว่า การแบ่งจ่ายเงินเดือน ๆ ละ 2 รอบไม่ได้ช่วยให้ข้าราชการมีหนี้สินน้อยลง เพราะยังมีภาระทุกอย่างเหมือนเดิม แต่จัดการได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงไม่เห็นประโยชน์จากนโยบายนี้
ไม่เห็นประโยชน์จากการแบ่งจ่ายเงิน 2 รอบ แต่ควรเพิ่มเงินเดือนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
อ่านข่าว : เริ่ม 1 ม.ค.67 ปรับวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ
ส่วนข้าราชการชำนาญการบางคน มองว่า การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ ไม่ตอบโจทย์เรื่องหนี้
ยกตัวอย่าง ข้าราชการเงินเดือน 50,000 บาท ซึ่งถือเป็นเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง หากจ่ายครึ่งแรก 25,000 บาท แต่ต้นเดือนต้องจ่ายค่ารถ ค่าบ้าน ก็เกินจำนวนเงินที่ได้รับแล้ว หากจะปรับแบบนี้ ก็ต้องปรับเรื่องโครงสร้างหนี้ด้วย เพราะส่วนตัวคิดว่าข้าราชการส่วนใหญ่มีหนี้สินหลักๆ คือ หนี้ธนาคาร หนี้บ้าน หนี้รถ
ส่วนตัวได้เงินเดือนประมาณ 40,000 บาท จ่ายค่าบ้าน-ค่ารถ 14,500, ค่าประกันชีวิต 500, หักหนี้ กยศ. 2,000, ให้ลูกเดือนละ 5,000 ให้แม่อีก 3,000 ทั้งหมดนี้จ่ายภายในวันที่ 1-5 ของเดือน ยังไม่รวมค่าจิปาถะอื่นๆ
พร้อมระบุอีกว่า หากจะจ่ายเงินเดือน 2 รอบก็ควรปรับเรื่องโครงสร้างหนี้ด้วย เช่น หนี้บ้านเดือนละ 7,000 บาท สามารถจ่ายต้นเดือน 3,500 และจ่ายกลางเดือนอีก 3,500 ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้สัญญาไม่ได้ระบุว่าใน 1 เดือนจ่ายหนี้ได้ 2 ครั้ง รวมถึงการหักเงิน กบข. หักหนี้ กยศ. และภาษีที่ถูกหักทุกเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ว้าวุ่นเลย! เงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ใครคิดเพื่อใคร
เปิด "เงินเดือนข้าราชการ" หลัง ครม. ปรับวิธีจ่ายเดือนละ 2 รอบ
นายกฯ ยืนยัน "แค่ทางเลือก" ไม่บังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวด