บางคนคิดสั้น หนีปัญหา เพราะหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบรุมเร้า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มอาชีพอิสระบอกว่าไม่สามารถกู้เงินแบบถูกกฎหมายจากธนาคารได้ เงินกู้ที่แม้จะผิดกฎหมายและดอกเบี้ยโหด แต่หากเอามาใช้หนี้ครัวเรือนได้ หลายคนยอมรับ
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ประเทศแรกคือ เกาหลีใต้ ไทย ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน แต่ถ้าจัดอันดับทั่วโลก ไทยอยู่ลำดับที่ 12
หนี้ครัวเรือนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มนี้ในระบบคิดเป็นร้อยละ 59 ส่วนหนี้นอกระบบห่างกันอยู่นิดหน่อยคิดเป็นร้อยละ 40 อายุเฉลี่ยคือวัยทำงาน 25-35 ปี มีข้อมูลเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนต่อหนึ่งเดือนจะอยู่ที่ 27,000 บาท แต่ภาระค่าใช้จ่าย สูงถึงเฉลี่ยเดือนนึงเกือบ 22,000 บาท
คำถามต่อมาคือรายจ่ายเหล่านี้ ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลทำให้เจอกับปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างแรกคือ ซื้อที่อยู่อาศัย ตามมาด้วยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค กู้เงินไปประกอบธุรกิจ กู้ไฟแนนซ์ซื้อยานยนต์ หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล
หลายครอบครัวแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนในรายจ่ายที่สูง บางส่วนหลุดเข้าไปวงโคจรหนี้นอกระบบ แรงงานอิสระ ทำอาชีพส่งเอกสาร หนี้รถ ค่าเล่าเรียนลูก และค่าใช้จ่ายรายวัน จะไปกู้เงินกับธนาคารก็ไม่มีสลิปเงินเดือน สเตตเมนต์ ทำให้ต้องไปพึ่งเงินกู้ในแอปพลิเคชัน เจอดอกเบี้ยสูง หนำซ้ำยังโทรประจานครอบครัว ความหวังของคนเหล่านี้ อยากให้รัฐบาลช่วยให้เงินกู้ถูกกฎหมาย และเกิดขึ้นได้จริงกับกลุ่มแรงงานอิสระ
นักวิชาการชี้โจทย์รัฐบาลแก้หนี้ครัวเรือนระยะยาว
นายนณริฎ พิศลยุบตร นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายเชิงเศรษฐกิจ หลักๆ คือต้องทำให้ฐานเงินเดือน 25,000 บาท เกิดขึ้นได้จริง และปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 600 บาท และ ลดภาษีผู้ประกอบการ
ยังมองว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาว รัฐบาลต้องถอดสูตรสมการให้ออกว่า นโยบายไหนจะมาช่วยอุดหนี้เรื้อรัง หนี้เสีย และจะต้องไม่ใช่การฉีดสเตียรอยด์เลี้ยงไข้ระยะสั้น
นายนณริฎ พิศลยุบตร นักวิชาการอาวุโส TDRI
การเติบโตด้านเศรษฐกิจต้องเติบโตต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และคู่ขนานกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายปรับฐานเงินเดือน การปรับลดภาษีของผู้ประกอบการก็สำคัญ แต่ต้องมองการระยะยาวไม่ใช่แค่ 4 ปี ถึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นรูปธรรม
อ่านข่าวอื่น :