อาชีพประมงโพงพางไม่ใช่ทุกคนอยากทำ เป็นอาชีพที่เหนื่อยหนัก ไม่มีเวลา วันนี้ออกตอนนี้ พรุ่งนี้ขยับไปอีกชั่วโมง อาศัยดูน้ำ ดูดวงจันทร์ และเป็นอาชีพหลัก ไม่เหมือนกับการทำสวนยางที่ล็อกเวลาได้
ชาวประมงโพงพาง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
วันนี้ (30 ส.ค.2566) รายการสถานีประชาชนสัญจร ยกพลลงใต้รับฟังปัญหาโพงพาง เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในร่องน้ำทะเลสาบสงขลา ที่กลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี ซึ่งในปัจจุบันมีการควบคุมไม่ให้เกิดการจับจองสร้างโพงพางเพิ่ม
ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ทีมข่าวสำรวจทะเลสาบสงขลาในสภาพที่ไร้เครื่องมือโพงพาง มีความสวยงามตามธรรมชาติ หลังมีการสนธิกำลัง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารื้อถอนโพงพางออกจากร่องน้ำการเดินเรือในทั้งหมด
จากการดำเนินการของหน่วยงานทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาโพงพางครั้งนั้น ส่งผลให้กลุ่มผู้ทำประมงโพงพาง ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา กังวลว่าในอนาคตกลุ่มทำประมงโพงพาง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนจะถูกสั่งรื้อถอนเหมือนกับพื้นที่บริเวณอื่นในทะเลสาบสงขลา
ผู้ทำประมงโพงพาง ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ความกังวลที่เกิดขึ้นชาวบ้าน จึงอยากให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจและวางแนวเขตการทำประมงโพงพางให้กับชาวบ้าน เพราะด้วยพื้นที่วางโพงพางไม่ได้กระทบต่อการสัญจรทางน้ำหรือกีดขวางการเดินเรือขนาดใหญ่
อย่างพื้นที่โพงพางบริเวณจุดนี้ ซึ่งห่างจากแนวตลิ่งบ้านหัวเขากว่า 300 เมตร ชาวบ้านบอกว่ามีการจับจองซื้อพื้นที่ทำโพงพางมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยซื้อต่อมาในราคาช่องละ 10,000 บาท จำนวน 5 ช่อง
แต่ปัจจุบันพบว่ามีการซื้อขายกันช่องละ 40,000-50,000 บาท หากพื้นที่บริเวณนี้ถูกสั่งรื้อโพงพางจากภาครัฐจริง ชาวบ้านกว่า 1,000 ครอบครัวต้องขาดอาชีพ และไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว
ชาวประมงโพงพาง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ในอดีตการจับจองโพงพางเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่รุ่นผมซื้อต่อกันมา 1 ช่องประมาณ 40,000-50,000 บาท ซื้อ 4 ช่อง 200,000 บาท
สำหรับการแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 รวมระยะเวลากว่า 65 ปี สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเครื่องมือโพงพางได้แล้วทั้งสิ้น 66 จังหวัด และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนอีก 11 จังหวัด เช่นเดียวกับ จ.สงขลา ที่มีมติเห็นควรให้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้เป็นประเด็นการเลือกปฏิบัติ
ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมประมงหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ใช้เครื่องมือโพงพาง เช่น การจ่ายค่าชดเชย การพัฒนาส่งเสริมอาชีพหรือการให้ความรู้และสนับสนุนในเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายประเภทอื่นด้วย และมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องที่ทำกินหรืออาชีพทดแทนมารองรับความเดือดร้อนของชาวประมง
รู้จัก "โพงพาง"
"โพงพาง" เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้วยลักษณะที่เหมือนถุงกรองกาแฟโบราณ ปากถุงกว้าง ก้นถุงเล็ก ตัวถุงทำจากอวนหรือไนลอนที่มีตาถี่หรือห่างตามต้องการ โดยรูปแบบแล้วจะใช้กางในแม่น้ำหรือลำคลอง เป็นคำอธิบายจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
"โพงพาง" ส่วนใหญ่จะกาง 3 ใน 4 ส่วนของลำน้ำ เพื่อให้เรือสามารถสัญจรไปมาได้ และมีไม้ไผ่กางขวางตามความกว้างของปากโพงพาง ลึกตามความลึกของลำคลอง ก้นโพงพางจะมัดด้วยเชือกอย่างแน่นหนา ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำหลุดออกไป
ขณะที่ก้นถุงจะใช้แกลลอนน้ำมัน หรือลูกมะพร้าวแห้งผูกเชือกปล่อยให้ลอยน้ำ เมื่อได้เวลากู้โพงพาง ชาวประมงก็จะนำเรือมาจอดเทียบก้นถุง ดึงเชือกขึ้นมาเปิดก้นถุงออกก็จะได้สัตว์น้ำที่ติดอยู่ในโพงพาง
ผู้ทำประมงโพงพาง ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา
การกางโพงพางนิยมทำกันตอนกลางคืน และต้องเป็นช่วงน้ำลง หากดักช่วงน้ำขึ้นจะติดสัตว์น้ำน้อย เดิมจะมีการจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดแขวนไว้ที่หัวเสาโพงพางทั้ง 2 ด้าน เป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีโพงพางขวางกั้นคลองหรือแม่น้ำอยู่ เพื่อป้องกันเรือชน แต่ปัจจุบันมักต่อไฟฟ้าจากบนบกลงไปแขวนดวงไฟไว้แทน
สำหรับข้อเสียของ "โพงพาง" คือเป็นเครื่องประมงที่จับสัตว์น้ำ โดยไม่แยกชนิดและขนาด ถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่มีการโยกย้ายถิ่นในการขยายพันธุ์ ร่วมทั้งกีดขวางลำน้ำ ทำให้ร่องทางเดินเรือตื้นเขินซึ่งก่อให้เกิดอันตราย
อ่านข่าวอื่น ๆ