วันนี้ (18 ส.ค.2566) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ระบุก่อนการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายว่า จะเดินหน้าเสนอให้ทบทวนมติการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมญที่ผ่านมามองว่าไม่ใช่คำวินิจฉัย เป็นเพียงการให้เหตุผลทางเทคนิค ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่ได้พิจารณาอะไร จึงเชื่อว่าสภาสามารถทบทวนเรื่องนี้ได้
โดยจะเสนอเรื่องนี้กับนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และมั่นใจไม่ใช้เวลายืดเยื้อเพียงแต่เป็นการทบทวนในสิ่งที่สภาได้พิจารณาไป โดยไม่ขอลงรายละเอียดว่ามีความผิดพลาดอะไร เพราะทุกอย่างประจักษ์ชัดอยู่แล้ว
ขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า อย่าเผาบ้านไล่หนู ซึ่งหากปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นปัญหาก็จะกลายเป็นบรรทัดฐาน จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต
นายรังสิมันต์ สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามเสนอ ก็คือหากเป้าหมายคือต้องการทำลายพรรคก้าวไกลเพื่อไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าทำสำเร็จไปแล้ว จึงไม่ควรจะทำลายหลักการของสภา ที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไปด้วยไปด้วย
มีลุงไม่มีเรา
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยดึงพรรค 2 ลุงเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น ในส่วนของพรรคก้าวไกลยังไม่ได้มีการประชุมกัน แต่หลังจากนี้ก็จะมีการประชุม ซึ่งจุดยืนของพรคก้าวไกล ไม่สนับสนุน นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็นชื่อใดก็ตาม หากมีแต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในฝั่งของพรรคเพื่อไทย เพราะมีลุงไม่มีเรา ตามที่ได้หาเสียงไว้ ถือเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนไม่สามารถลืมได้
ส่วนจะถึงขั้น Walk Out ออกจากกันประชุมสภาในวันโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจไปถึงขั้นนั้น และไม่มีความคิดในเรื่องการ Walk Out เบื้องต้นจะทำหน้าที่การประชุมในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ตามปกติ
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวถึงกรณีตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะเชื่อมโยงกับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน จำเป็นต้องมีการพูดคุยในที่ประชุม สส. พรรคก้าวไกลหรือไม่ว่า ยังไม่มีการกำหนดวาระเรื่องนี้ในการประชุมพรรค
ส่วนตำแหน่งใด จะสำคัญกว่ากันนั้นมองว่าที่สุดแล้วต้องรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาตัดสินใจในเรื่องนี้
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย
จากเสียงสะท้อนของประชาชนมีความผิดหวังในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยดึงพรรค 2 ลุงเข้ามาร่วมด้วย ไม่เข้าใจว่าประเทศมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันในจุดยืนเดิมของตัวเอง และเดินหน้าต่อไป ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด
ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตก็เป็นเรื่องของงานในสภา เพราะกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะเสนอหลายฉบับต้องขอเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่าย เหมือน 4 ปีที่ผ่านมาที่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็ต้องขอเสียงจากทุกฝ่าย ต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และการขอคะแนนเสียงจากสภาก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
รับ "ลุงป้อม" เรื่องยากที่สังคมจะรับได้
ส่วนพรรคก้าวไกลจะไปทวงสัญญาจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่ว่า เมื่อมี 2 ลุงแล้วจะลาออกนั้น คงไม่ต้องไปทำบทบาทนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทยเอง แต่สุดท้ายแล้วหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องไปดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ส่วนข้อสังเกตว่าสว.อาจจะไม่โหวตให้นายเศรษฐา และอาจนำไปสู่การโหวตสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หวังว่าจะไม่ไปถึงจุดนั้น ทั้งนี้ไม่น่าเชื่อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจากที่ฝันจะตั้งรัฐบาลประชาชน หลังการเลือกตั้ง แต่กลับได้รัฐบาลลุง จึงเป็นเรื่องยากที่สังคมจะรับได้
ส่วนข้อกังวลว่าอาจจะมีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลนั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะขณะนี้ก็ยังไม่เห็นหน้าตารัฐบาล ต้องดูหน้าตารัฐบาลอีกครั้ง