วันนี้ (9 ส.ค.2566) นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เปิดเผยความคืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน ภาพรวมพบว่าปรับตัวเข้ากับพื้นที่ และควาญทั้ง 3 คนโดยยอมให้ขึ้นคอ เข้าใกล้สัมผัสตัวอย่างใกล้ชิด การกินนอนและล้มตัวลงนอนเฉลี่ยวันละ 2-3 ชม.ต่อวันถือว่าเขามีความสุข
ขณะที่การตรวจโรคช้าง 2 ครั้งแรกไม่พบเชื้อโรคอะไร โดยล่าสุดมีการเก็บตัวอย่างเลือดตรวจสอบรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าผลจะออกในช่วงวันที่ 18 ส.ค.นี้ จากนั้นถ้ากรมปศุสัตว์ อนุมัติให้ปล่อยตัวแล้ว จึงจะสามารถเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ไปฝั่งศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.ลำปาง
ตอนนี้เริ่มฝึกให้พลายศักดิ์สุรินทร์ ซ้อมขึ้นรถบรรทุกเพื่อเตรียมย้ายไปฝั่งศูนย์อนุรักษ์ช้าง พบว่าร่วมมือดี ยอมให้ควาญขึ้นคอได้แล้ว
คืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน
3 แนวทางรักษาอาการบาดเจ็บ “พลายศักดิ์สุรินทร์”
ด้าน นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า จากการประเมินแผนการรักษาร่วมกับสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงานทั่งองค์การสวนสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบมีอาการเจ็บป่วยภายในและภายนอกร่างกาย คือตาขวามีอาการคล้ายต้อกระจก ขาหน้าด้านซ้ายมีอาการเหยียดตึงและผิดรูป และมีการทำงานของไตบกพร่อง
นสพ.ดร.ทวีโภค กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาขาหน้าด้านซ้ายที่มีอาการอาการเหยียดตึงและผิดรูป น่าจะเรื้อรังมานานแล้วต้องเอกซเรย์ขา ตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตราซาวด์ ตรวจวัดการเดิน เพื่อวินิจฉัยว่าผิดปกติในส่วนไหน แต่เบื้องต้นจะเรื่มกระบวนการรักษาแบบบรรเทาอาการไปพร้อมกัน ด้วยการให้ช้างเดินออกกำลังเบาๆ ด้วยการเดิน การว่ายน้ำ และการประคบร้อนด้วยลูกประคบ รวมทั้งการนวดด้วยคลื่นความถี่สูง
อาการบาดเจ็บที่ขาซ้าย อาจจะเกิดจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อ แต่ได้ทดสอบให้เดินวันละ 100-200 เมตร แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเหยียดตรงได้เหมือนเดิมหรือไม่ และใช้ระยะเวลานานกี่เดือน
นสพ.ดร.ทวีโภค กล่าวอีกว่า ส่วนอาการตาด้านขวาที่มีคล้ายต้อกระจก หลังจากนี้ จะหาความผิดปกติและเทียบตาทั้ง 2 ข้าง ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นอัลตราซาวด์เพื่อหาเลนส์ตาก่อน โดยทางเลือกคือการสลายต้อ ถ้าพบว่าผิดปกติ และรักษาตามอาการ ส่วนแผลฝีที่สะโพกภาพรวมไม่น่าเป็นห่วงพบแผลเริ่มแห้งลดลง
นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ
พบโปรตีนในฉี่สูง อาจเครียดสะสม
ส่วนอาการที่พบเพิ่มเติมคือมีโปรตีนปนในปัสสาวะ รวมทั้งค่าความถ่วงจำเพาะผิดปกติ อาจบ่งชี้ถึงการทำงานของไตบกพร่องได้ ซึ่งประเด็นนี้ถ้าพ้นระยะกักตัวแล้ว ทางโรงพยาบาลช้าง จะตรวจวัดค่าความดันเลือด รวมทั้งคลื่นหัวใจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาการนี้อาจเกิดจากช้างที่มีความเครียด จนเกิดภาวะที่พบโปรตีนปนในปัสสาวะได้ จึงต้องติดตามระยะยาว
ควาญช้าง 3 คนคือ ควาญปลิว ควาญโอ้ต และเคน ได้รับการยอมรับจากพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ในระเวลาเพียง 1 เดือนเศษถือว่าเร็วเป็นข้อดี เพราะการที่ช้างยอมรับควาญจะนำไปสู่การดูแลช้างในระยะต่อไป
นอกจากนี้หลังจากย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างแล้ว จะมีเวลาให้ปรับตัวกับพื้นที่ใหม่อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ แต่จะมีการตรวจรักษาไปพร้อมกัน รวมทั้งจะหาเพื่อนช้างที่เข้ากับพลายศักดิ์สุรินทร์ ให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครั้งแรกของโลก! อ.อ.ป.สอบคุณวุฒิอาชีพ "ควาญช้าง
เตรียมสปาเล็บ "พลายศักดิ์สุรินทร์" เลื่อนกักโรครอผล 18 ส.ค.นี้