ถ้าจะอนุรักษ์ช้าง ต้องอนุรักษ์ควาญช้าง ต้องมองแบบก้าวกระโดดว่าก่อนที่ช้างจะสูญพันธุ์ ควาญช้างจะสูญพันธุ์ก่อน
นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หรือ หมอต้อม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงจุดเริ่มต้นในการเปิดรับสมัครประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพควาญช้างครั้งแรกของไทยและของโลกในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้
"หมอต้อม" เล่าว่า คนที่จะเป็นควาญช้าง ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดแบบพ่อสอนลูก พี่สอนน้อง ไม่ได้นั่งในสอนห้องเรียน เป็นการเรียนรู้แบบ learning by doing คือเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการกระทำ และฝึกปฏิบัติจริงภายใต้สภาพแวดล้อมจริง ควาญบางคนอาจใช้เวลาแค่ 3 เดือน 6 เดือนหรือเป็นปีๆ ขึ้นความสามารถของแต่ละคน
นอกจากนี้ ควาญช้าง ถือเป็นศาสตร์เฉพาะกลุ่ม เช่น พ่ออยากให้ลูกเป็น ความรู้เหล่านี้ต้องถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ แต่ละท้องถิ่นคนเลี้ยงช้าง ก็ไม่เหมือนกันทั้งศาสตร์และศิลป์ ความรู้เหล่านี้ต้องถ่ายทอด ถ้าเราอยากรู้ ก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเขาให้ได้
ศิลปะขั้นสูงที่ควาญช้างแต่ละคนมีและสื่อสารกับช้างได้โดยไม่มีตำรา คือสัมผัส มอง หรือแค่ขึ้นท่วงท่า ท่าทาง ก็สื่อสารกับช้างได้ ควาญที่เก่งๆเป็นที่ยอมรับของช้างโดยมากจะไม่พูดมาก แค่ขึ้นไปแตะช้าง ก็สื่อสารกันได้แล้ว
นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หรือ หมอต้อม หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (อ.อ.ป.)
สอบคุณวุฒิอาชีพควาญช้าง
หมอต้อม บอกว่า ปัจจุบันอาชีพควาญช้างไม่ได้เป็นที่นิยมแล้ว ก่อนที่ช้างจะสูญพันธุ์ควาญช้าง อาจจะสูญพันธุ์ไปก่อน ด้วยเพราะการคุมช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ถึงจะไม่ก้าวร้าว แต่ต้องมีใจรักจริงๆ เพราะคนทำงานกับช้างต้องยอมรับกับ 3 สิ่งคือความยาก ความสกปรกและความอันตราย ทำให้พ่อแม่สมัยนี้ไม่อยากให้ลูกหลานไปเสี่ยง
ช่วง 50 ปีก่อนอาชีพควาญยังได้รับความนิยม ถือเป็นอาชีพที่เชิดหน้าชูตา รายได้ดี เพราะยุคสมัยนั้นยังมีการทำไม้ ยังต้องใช้ช้างชักลากไม้ในป่า ควาญคอคุมช้างจึงสำคัญ
ดังนั้นทางสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จึงร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) เปิดรับสมัครประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพควาญช้างระดับ 2 จาก 5 ระดับนำร่องกลุ่มแรกโดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ 10 ส.ค.นี้ และจัดประเมินวันที่ 25 ส.ค.นี้ ซึ่งการประเมินครั้งแรกนี้ ตั้งเป้าจะมีผู้ผ่านการประเมินอาชีพควาญช้างกลุ่มแรก 30 คน เนื่องจากคนที่จะเข้าประเมินต้องมีประสบการณ์ในการดูแลเลี้ยงช้าง และควบคุมช้าง ไม่น้อยกว่า 1 ปี
พี่เกยูร ควาญช้าง กับยายสายทอง เพื่อนต่างสายพันธุ์ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.ลำปาง
เปิดอกพี่ควาญคู่ใจ "ยายสายทอง"
ต้องอ่านนิสัยกันออกไม่งั้นเลี้ยงกันไม่ได้ เรียกเขาว่าเพื่อนๆ หรือบางทีถ้าดื้อก็จะเรียกอีเฒ่าสายทองมานี่
แม้แดดยามบ่ายแก่ๆ จะร้อนเปรี้ยง แต่พี่เกยูร วิชชุต ยังคงพายายสายทอง ช้างชราวัย 50 ปี 1 ใน 10 เชือกของปางบุญ ออกมาพักกินน้ำจากสายยาง และกินหญ้าอีกนิด คลายร้อนจากการเดินทาง 4-5 กิโลเมตรต่อวัน ก่อนรอเวลานำไปผูกกับหลักมัด ซึ่งถือเป็นกิจวัตรประจำวันๆ จากนั้นจะเตรียมหญ้าเนเปียไว้สำหรับให้กินตอนกลางคืน
พี่เกยูร บอกว่าเป็นควาญช้างชาวสุรินทร์ มา 10 ปีถ่ายทอดมาจากพ่อ และเป็นคนเดียวของพี่น้องที่ยึดอาชีพนี้ พี่น้องคนอื่นเห็นขี้ช้างก็วิ่งหนีหมด เคยดูแลช้างมา 3 เชือกชื่อ ทองแท่ง เป็นช้างงา ทรัพยไพรวัลย์จนมาถึงยายสายทอง ดูแลกันมาจากจ.พิษณุโลกจนมาอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.ลำปาง 3-4 ปีแล้ว
เขาบอกว่า คนเป็นควาญช้างต้องใจรัก และสื่อสารกับช้าง แต่คนอื่นจะเหมือนเราถ้าพ้นพวกเราไปแล้วจะไม่มีใครมาทำอาชีพมาสืบสานต่อ ยากชุดนี้เริ่มแก่ลงเรื่อยๆ เป็นห่วงคิดว่าไม่น่าจะหายเพราะยังมีคนที่รักช้างอยู่เพียงแต่ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา
ควาญช้างชุดนี้เริ่มแก่ลงเรื่อยๆ คนที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ก็ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ถึงจะไม่ถึงขั้นสูญหายเพราะยังมีคนที่รักช้างอยู่
ควาญช้างวัย 40 ปีบอกว่า เห็นด้วยที่จะมีการยกระดับอาชีพควาญช้าง
เปิดเกณฑ์คุณสมบัติควาญช้างระดับ 2
สำหรับการประเมินอาชีพควาญช้างระดับ 2 สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อาชีพควาญช้าง ระดับ 2 คุณลักษณะของผลการเรียนรู้ จะประกอบด้วย มีความรู้และทักษะในการดูแลเลี้ยงช้าง สามารถดูแลสุขอนามัยของช้าง มีทักษะในการทำความสะอาดช้าง สามารถตรวจสภาพทั่วไปของช้าง ผิวหนัง และร่องรอยบาดแผล หรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับช้าง
การฝึกช้างให้เรียนรู้การพานักท่องเที่ยวนั่งหลังช้าง เข้าป่า
นอกจากนี้มีทักษะในการจัดหา จัดเตรียมอาหารและน้ำให้ช้าง มีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการอาหารของช้าง การเก็บรักษาอาหารช้าง สามารถสังเกตความผิดปกติในการกินอาหารและน้ำของช้างได้
รวมทั้ง สามารถดูแลที่อยู่อาศัยของช้าง มีความรู้ในการเลือกที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของช้าง สามารถเลือกสภาพพื้นที่ทำเลในการผูกล่ามช้างได้อย่างปลอดภัย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งต่อตัวช้างและมนุษย์ รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพช้าง