น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อัปเดตการดูแลรักษาลูกช้างป่า "ตุลา" ว่า "เริ่มล้มตัวลงนอนได้ กลยุทธ์ในการดูแลลูกช้างป่ากำพร้า เพื่อเอาให้รอด คือ ความอบอุ่น และโภชนาการ
ตอนนี้ความอบอุ่น พี่เลี้ยงทุกคนเหงื่อท่วม ส่วนโภชนาการการต้องปรับสมดุลให้ทันกับอาการป่วย โครงสร้างร่างกายที่น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น แต่กระดูกบางลง เพราะไม่ได้กินนมแม่ตั้งแต่เริ่ม หลากหลายภาวะแทรกซ้อน ยังไม่รวมภาวะประสาทสัมผัสที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่าง อย่างไรก็ตามทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่ประเทศไทย จะดูแลน้องให้ดีที่สุด ขอบพระคุณทุกความห่วงใยน้องตุลาครับ"
ขณะที่ น.ส.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ภายใต้การกำกับของกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รายงานการรักษาและอนุบาลลูกช้างป่า ในวันที่ 5-6 ส.ค. ว่า สัตวแพทย์ได้รักษาแผลในช่องปากที่มีเนื้อตายลอกหลุด พบว่าเกิดเป็นเนื้อใหม่ขึ้นมา มีการอักเสบลดลง ทำการล้างปาก และพ่นสเปรย์นาโน แต้มยาลดอักเสบ รักษาด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแม็กเนติก (ทำวันเว้นวัน) ฉีดยาลดปวดลดอักเสบ ประคบร้อนตามเท้าหน้า, เท้าหลังขวา, หัวไหล่ซ้าย
ช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ส.ค. ตุลาล้มตัวลงนอนประมาณ 2 ชม. 35 นาที และช่วงบ่ายเอนพิงหลับประมาณ 20 นาที ยังกินนมผสมถั่วปั่น หญ้าเม็ดปั่น และกล้วยดิบปั่นได้ แต่ปริมาณลดลงเนื่องจากปากมีแผล ให้กินแคลเซียมและยาบำรุงตับ ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น ส่วนปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ มีปัสสาวะกะปริบกะปรอย ถ่ายอุจจาระเป็นก้อน
ทีมสัตวแพทย์ดูแลรักษาลูกช้างป่าตุลา
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์รักษาดูแลใกล้ชิดและเฝ้าระวังอาการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่าขาหน้าอักเสบ ไม่ล้มตัวลงนอนหลายวัน และปากมีแผล
ด้าน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "NuNa Silpa-archa" ถึงการดูแลตุลา ว่า ทีมเจ้าหน้าที่ได้ทำกองฟางให้ลูกช้างพิงนอน
"พี่ ๆ เขาทำกองฟางให้หนูพิงนอน ซึ่งหนูกำลังพิงอยู่ จะได้ช่วยลดทอนการยืนของหนู หมอบอกเมื่อคืนหนูล้มตัวนอนได้ช่วงตี 3 ถึง 6 โมงเช้า ช่างกำลังออกแบบอุปกรณ์ช่วยพยุงตัวหนูนะคะ"
ตุลาเอนพิงกองฟางที่พี่ ๆ ทำไว้ให้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช้างป่า "ตุลา" ใช้สัญชาตญาณตอบสนองสิ่งเร้ามากกว่าปกติ เหตุระแวง
ลูกช้าง "ตุลา" ไม่ล้มตัวนอน-ขาอักเสบ ผลตรวจเฮอร์ปีส์ไวรัสเป็นลบ