ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เสือโคร่ง" ในป่าไทยเพิ่มเป็น 148-189 ตัว เร่งฟื้นฟูเหยื่อ-ถิ่นอาศัย

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ค. 66
07:50
3,834
Logo Thai PBS
"เสือโคร่ง" ในป่าไทยเพิ่มเป็น 148-189 ตัว เร่งฟื้นฟูเหยื่อ-ถิ่นอาศัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข่าวดีรับวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก 29 ก.ค. ไทยพบเสือใน 4 กลุ่มป่า เพิ่มขึ้นเป็น 148-189 ตัว หรือเพิ่ม 100% จากปี 57 ส่วนใหญ่ในกลุ่มป่าตะวันตก เร่งฟื้นฟูประชากรเหยื่อ ลาดตระเวนเชิงคุณภาพป้องกันภัยคุกคาม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า วันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2577) โดยมี 4 กลุ่มป่าสำคัญที่มีประชากรเสือโคร่ง คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง และกลุ่มป่าตะวันตก

ตัวเลขล่าสุดที่สำรวจในปี 2565 พบประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ 100% อยู่ระหว่าง 148-189 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ โดยพยายามกำหนดเป้าหมายอีก 2 กลุ่มป่า เพื่อเพิ่มปริมาณเหยื่อ และแหล่งที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของปิรามิดผู้ล่า เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

ขณะที่นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เสือในป่าสำคัญสุด คือ การดูแลระบบนิเวศถิ่นอาศัย ไม่ให้ถูกบุกรุก รบกวน หรือมีปัจจัยคุกคามกระทบต่อการลดประชากร อีกส่วนหนึ่ง คือ การปล่อยเหยื่อของเสือในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก ไปถึงกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งในปีที่ผ่านมายังไม่พบข้อมูลการล่าเสือโคร่ง

นอกจากนี้ จะติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ติดตามเส้นทางการเดินของเสือโคร่ง รวมถึงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ นำไปเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อทำอัตลักษณ์ลายเสือแต่ละตัวเป็นฐานข้อมูล

ประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นที่น่าพอใจ

ส่วนในพื้นที่ที่เคยมีเสือโคร่ง แต่ต่อมาไม่พบร่องรอย เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็จะพยายามดึงให้เสือข้ามจากป่าทับลานไป โดยพบร่องรอยเสือโคร่งในระยะ 1 กิโลเมตร ใกล้คอร์ริดอร์ หรือทางเชื่อม 2 ผืนป่า และมีแผนปรับปรุงสภาพป่า แหล่งอาหาร บริเวณด้านบนแนวเชื่อมป่า

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อธิบายถึงแผนปี 2565-2577 ว่า มีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ป่าตะวันตก พื้นที่หลักของการอนุรักษ์เสือโคร่ง, เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ ยกระดับการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก

อนุรักษ์ "เสือโคร่ง" อย่างยั่งยืน

ในปีนี้ กรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานวันเสือโคร่งโลก ภายในแนวคิด "Move Forward to Sustainable Tigers Conservation" การก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง 6 กลุ่มป่า มีรายงานการสำรวจพบและถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 22 แห่ง 4 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี และกลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง โดยประเมินว่า ในปี 2565 ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยประมาณ 148-189 ตัว ซึ่งประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มป่าตะวันตก และมีการเดินทางไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ โดยมีแนวโน้มประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จาก 41 ตัว ในปี 2557 เป็น 100 ตัวในปี 2565

ข้อมูลจากหนังสือเสือ Now or Forever ระบุว่า เสือโคร่ง ถูกจัดให้อยู่ส่วนยอดสุดของปิรามิดอาหาร แสดงให้เห็นว่าการดำรงชีพของเสือโคร่งมีความจำเป็นต้องอาศัยปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ คือ สัตว์กีบจำนวนมาก เสือโคร่งหนึ่งตัวต้องการเหยื่อขนาดกวางป่า (150 กิโลกรัม) เพื่อเป็นอาหารในหนึ่งปีจำนวน 45-50 ตัว โดยการล่าเหยื่อของเสือโคร่งนั้นมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเสมอ อาจทำให้ตัวมันบาดเจ็บเอง

ดังนั้นเสือโคร่งจะเพิ่มโอกาสในการล่าเหยื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยการเลือกเหยื่อที่อ่อนแอ อาจมีสาเหตุจากการเจ็บป่วย แก่ชรา หรืออ่อนประสบการณ์ในการหลบหลีกศัตรู การที่เหยื่ออ่อนแอถูกล่าออกจากกลุ่มประชากร ทำให้ประชากรเหยื่อที่เหลือเป็นพวกที่แข็งแรง เป็นประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ต่อไป จึงกล่าวได้ว่าเสือโคร่งมีบทบาททำให้โครงสร้างประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อมีความแข็งแรง และคงไว้ซึ่งลักษณะทางพันธุ์กรรมที่ดีจากการล่าเหยื่อที่อ่อนแอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสือโคร่งในป่าเพิ่ม แต่คดีลอบค้าพุ่ง 6 เดือน จับของกลางลูกเสือ 3 ตัว 
สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด 
ไขความลับ! ลายพาดกลอนเสือโคร่ง บอกอะไร?

อัปเดตชีวิต "พี่ขวัญ" และ "น้อง 3 ข." ลูกเสือโคร่งของกลางบึงฉวาก  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง