เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ''โครงการริเริ่มการจัดหาอุปกรณ์สำหรับนักเรียนในกรุงเทพมหานคร'' พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนและองค์กรภาคเอกชนบริจาคโน้ตบุ๊กเก่า เพื่อนำมาปรับโฉมการใช้งานด้วยด้วยเทคโนโลยี ChromeOS Flex ให้กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการศึกษา และเตรียมพร้อมนักเรียนทั่ว กทม.จำนวน 437 แห่ง
ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสาธารณสุข เป็น 2 มิติที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนใน กทม.โครงการที่จัดขึ้นนับเป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้รับและผู้ให้ ผู้บริจาคสามารถลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมความยั่งยืนทางดิจิทัล (Digital sustainability) และยังเป็นส่วนช่วยลดช่องว่างในการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ลักษณะของเครื่องโน้ตบุ๊กที่รับบริจาค มีดังนี้ หน้าจอ คีย์บอร์ดไม่ชำรุด และมีอะแดปเตอร์ครบถ้วน, มี RAM ไม่ต่ำกว่า 4 GB, มี HDD หรือ SSD ความจุไม่น้อยกว่า 16 GB, รองรับ Wi-Fi, มี USB port ที่สามารถใช้งานได้อย่างน้อย 1 ช่อง, ลำโพงและไมโครโฟนใช้งานได้ปกติ, แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 60 นาที, มีกล้องหน้าใช้งานได้
เนื่องจากทาง กทม.มีความตั้งใจให้นักเรียนมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ที่สามารถดูแลได้ด้วยตนเอง ประกอบกับโรงเรียนหลายแห่ง ยังไม่มีพื้นที่รองรับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่เหมาะสม ทาง กทม.จึงขอรับบริจาคเฉพาะโน้ตบุ๊กเพียงเท่านั้น
เมื่อกรอกรายละเอียดผ่านแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์บริจาคแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อกลับผ่านเบอร์โทรศัพท์ เพื่อแจ้งรายละเอียดการส่งตามที่อยู่ของมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งหากมีความต้องการให้มูลนิธิฯเดินทางเข้ารับเครื่องโน้ตบุ๊ก ก็สามารถแจ้งนัดหมายวัน/เวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
หลังจากได้รับอุปกรณ์ มูลนิธิกระจกเงา จะทำการซ่อมแซม และติดตั้งระบบปฏิบัติการ ChromeOS Flex เพื่อให้โน้ตบุ๊กพร้อมใช้งาน และทำการจัดส่งให้โรงเรียนในเวลาต่อไป
ด้าน อรกัญญา พิบูลธรรม ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่หอการค้าฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หอการค้าฯ ได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศไทยแล้วกว่า 3,100 ทุน ให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษากว่า 860 แห่ง และมอบเงินทุนสนับสนุนด้านการศึกษารวมเป็นจำนวนกว่า 190 ล้านบาท
เนื่องด้วยหอการค้าฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้และต้องการช่วยส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ด้อยโอกาส จึงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนโครงการห้องเรียนดิจิทัลของ กทม. อย่างเต็มที่ โดยจะช่วยประชาสัมพันธ์โครงการนี้ในหมู่นักธุรกิจชาวต่างชาติ และร่วมมือกับสมาชิกของหอการค้าฯ เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่คุณชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งไว้
ขณะที่ ไมค์ จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดด้านแบรนด์ Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัท Google ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียมของคนไทย เพื่อต่อยอดโครงการ Be Internet Awesome เมื่อต้นปีที่ผ่านมาโรงเรียนในหลายพื้นที่มีการใช้โปรแกรม ChromeOS Flex ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย ประกอบการศึกษา ซึ่งนักเรียนสามารถใช้ควบคู่ไปกับ Chromebook ที่มีอยู่แล้วอย่างสะดวกสบาย
ปัจจุบัน สำนักการศึกษา กทม.ได้นำร่องนำคอมพิวเตอร์มาพัฒนาห้องเรียนระดับชั้น ป.4 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ให้เป็นห้องเรียนดิจิทัล สามารถจัดการเรียนการสอน 7 วิชา ด้วย Google Workspace for Education โดยนักเรียนทุกคนจะมีโน้ตบุ๊กเฉพาะของตัวเอง เป็นส่วนช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เช่น Google Workspace for Education, Jamboard, Kahoot กระตุ้นการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน พัฒนาศักยภาพและทักษะการเรียนรู้เชิงดิจิทัล
ไมค์ จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดด้านแบรนด์ Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำว่า บริษัท Google ให้ความสำคัญด้านการศึกษาและการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียมของคนไทย
ทั้งนี้ สำนักการศึกษา กทม.คาดว่าภายในปี พ.ศ.2569 โครงการจะได้รับบริจาคโน้ตบุ๊กเก่าจำนวน 130,000 เครื่อง โดยตั้งเป้าหมายแรกเริ่มต้น 2,200 เครื่อง ภายในเดือน พ.ค.2566 โดยในปีแรกจะมอบให้ 11 โรงเรียน สำหรับนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.1 และเพิ่มจำนวนโรงเรียนขึ้นตามลำดับ
โครงการความร่วมมือนี้นับเป็นความมุ่งมั่นของ Google ประเทศไทย ภายใต้พันธกิจ Leave No Thai Behind ที่สนับสนุนการศึกษาและการลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อให้คนไทยเข้าถึงโอกาสที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ สำหรับประชาชนทั่วไปหรือองค์กรที่ประสงค์ร่วมบริจาคคอมพิวเตอร์ไม่ใช้งานแล้ว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://digitalclassroom.bangkok.go.th/