วันนี้ (14 ก.ค.2566) รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊กอภิปรายนอกรัฐสภา ตามที่สมาชิกรัฐสภา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังอภิปรายยกเหตุการแก้มาตรา 112 มาเป็นเหตุผลไม่โหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นคนละเรื่องกับการแก้มาตรา 112 ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ใน MOU 8 พรรค และ 151 ส.ส.ก้าวไกล จะดำเนินการในฐานะพรรคการเมืองที่เสนอเอง
รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่การประชุมรัฐสภา วานนี้ (13 ก.ค.) กังวลใจที่สมาชิกรัฐสภานำวิธีคิดระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอภิปรายอ้างเหตุผล และทำให้สังคมเข้าใจผิด
รศ.ปิยบุตร โต้ 3 ประเด็น คือ การอภิปรายยกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ จะละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายอ้างว่าเป็นผลกระทบจากการแก้มาตรา 112 โดยชี้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้หมายถึงเนื้อเดียวกับรัฐ โดยหัวใจหลักเขียนไว้เพื่อยกให้พระมหากษัตริย์มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้ แต่ให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง
"ขออย่ามาอภิปราย ชักแม่น้ำทั้ง 5 แต่ละสายออกมาเพื่อชี้นำประชาชนให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ล้มล้างการปกครอง แบบนี้ไม่ถูกต้อง เชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีแรงต้านทานที่สูงพอ และรู้ดีว่าจะต้องโดนข้อหาเหล่านี้ไปตลอด แต่ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ เขาต้องการดำรงสถาบันให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่มาอภิปรายสถาบันตอนเลือกนายกรัฐมนตรีทำไม"
รศ.ปิยบุตร ย้อนถามนายวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่อ้างเหตุผลการตั้งพรรคเพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่โจมตีพรรคก้าวไกลล้มล้างสถาบันฯ สุดท้ายก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง แต่ไทยภักดีได้ไม่กี่แสนเสียง ย้ำการรักษาสถาบันฯ ขอการเมืองอย่าใช้วิธีการเช่นนี้
ส่วนประเด็นเรื่องการลงสัตยาบัน ธรรมนูญกรุงโรม (ICC) ซึ่งอภิปรายว่า นับจนถึงปัจจุบันหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดมา 21 ปี ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศสมาชิกถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า หากสมาชิกรัฐสภาจะไม่ชอบนายพิธาและพรรคก้าวไกล ไม่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ขออย่าใช้ประเด็นสถาบันฯ และการแก้มาตรา 112 มาอ้างไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาสถาบันฯ ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ขอให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และหากไม่เห็นด้วยจริง ๆ ก็สามารถที่จะไปโหวตคว่ำได้ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาได้