ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประชุมสภา : เปิดธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 ประเด็นร้อน "ชาดา" ซัด "พิธา"

การเมือง
13 ก.ค. 66
15:25
2,263
Logo Thai PBS
ประชุมสภา : เปิดธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 ประเด็นร้อน "ชาดา" ซัด "พิธา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เดือดแต่เช้า! เมื่อ "ชาดา" ซัด "พิธา" หากเป็นนายกฯ จะไปลงสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งมีข้อกังวลคือ ข้อ 27 ว่าด้วยการบังคับบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค หากต้องรับความผิดทางอาญา ด้านพิธาโต้กลับ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล

เปิดตัวอภิปรายคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เป็นคนแรกในรัฐสภา สำหรับ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศตัวพร้อมเป็นฝ่ายค้าน และไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายแก้ไข ม.112 ใจความตอนหนึ่งขณะแสดงวิสัยทัศน์ว่า 

... ถ้านายพิธาเป็นนายกฯ จะไปลงสัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ สาระสำคัญว่า สามารถฟ้องผู้เป็นประมุขของรัฐได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ...

ต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ขอใช้สิทธิพาดพิงโดยระบุว่า ข้อที่นายชาดามีความกังวล คือข้อที่ 27 แต่ประเทศต่างๆ ที่เป็นระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอยู่ 123 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ กัมพูชา สวีเดน เดนมาร์ก ต่างเซ็นให้สัตยาบันทั้งหมด 

... ถ้าเราเข้าใจว่าพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง และพระองค์ท่านทรงใช้พระราชอำนาจผ่าน ครม. อยู่แล้ว สิ่งนี้จะไม่เป็นประเด็นอย่างที่นายชาดากล่าวหาเลย ...

ธรรมนูญกรุงโรมสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statue) ข้อ 27 กำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคกัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐ มาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้เลย

รัฐบาลไทยจึงไม่ยอมให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เพราะ ข้อ 27 ดังกล่าว จะมีผลให้พระมหากษัตริย์ไทย อ้างความคุ้มกันตามกฎหมายไทยมิได้ 

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2545 ตามธรรมนูญกรุงโรม สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statue) ศาลแห่งนี้ถือได้ว่า เป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งแรก ที่ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีลักษณะถาวร (permanent)

โดยมีรัฐต่างๆ ได้ร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมจำนวน 139 รัฐ รวมทั้งประเทศไทย ขณะนี้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในการดำเนินดดีกับปัจเจกชนผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ 4 ประเภท คือ

  1. อาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Cime of Genocide)
  2. อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crimes against Humanity)
  3. อาชญากรรมสงคราม (War Crimes)
  4. อาชญากรรมรุกราน (Crimes of Aggression)
ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ และรัฐต่างๆ ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

จึงมีความพยายามที่จะใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นกลไกในการยุติภาวะการกระทำความผิดโดยไม่มีการลงโทษ (culture of impunity) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐภาคีและศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

โดยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ

  1. ไม่มีผลย้อนหลังของความผิด (Non-retroactivity of the Statute) 
  2. ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล (No to impunity) 
  3. หลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Trials must be fair) 

แนวนโยบายของไทยและปัญหาในการเข้าเป็นภาคี

สำหรับประเทศไทยนั้น โดยในคราวประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี พ.ศ.2541 ที่องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมทางการทูตของผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ไทยได้ลงคะแนนรับรองธรรมนูญศาล และต่อมาได้ลงนามรับรอง (Sign) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2543 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในวันที่ 1 ก.ค.2545 ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้เริ่มมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อประเทศต่าง ๆ ได้ให้สัตยาบันครบ 60 ประเทศ

การที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรม สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ไทยยังไม่มีพันธะกรณีใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีเพียงพันธกรณีทางด้านศีลธรรม ที่แสดงว่า ประเทศไทยสนับสนุนหลักการในธรรมนูญกรุงโรม และจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินงานของศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้น

ทำให้ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น ถึงปัญหาในการเข้าเป็นภาคีในธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระราชอำนาจในการทำสงครามของพระมหากษัตริย์, กรณีฆ่าตัดตอนในระหว่างการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล

การทำความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ในการไม่ส่งมอบตัวผู้กระทำความผิด ให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 98 (2) และล่าสุด กรณีการสังหารหมู่หรือการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี

ที่มา : Public-law net, ICRC,  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชุมสภา : ห้ามเพิ่มพื้นที่ชุมนุม-ตร.เตรียมอุปกรณ์รับมือ

ประชุมสภา : กกต.ชี้แจงกรณีไม่เรียก "พิธา" ชี้แจงปมวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.

ประชุมสภา : "อดิศร" หนุน "พิธา" นั่งนายกฯ เปรียบ "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ข้าวต้มมัดตั้งรัฐบาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง