ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เบื้องหลังเหนือคู่แข่งการเมือง "ฟิลิปปินส์-ไทย"

ต่างประเทศ
7 ก.ค. 66
15:36
1,051
Logo Thai PBS
เบื้องหลังเหนือคู่แข่งการเมือง "ฟิลิปปินส์-ไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 17 ของฟอร์ดินานด์ "บองบอง" โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายคนเดียวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และอีเมลดา มาร์กอส ทำให้เกิดคำถามมากมายต่อประชาชนชาวฟิลิปปินส์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า

เหตุใด "บองบอง" จึงได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายทั้ง ๆ ในอดีตบิดาของเขาคือ ผู้นำที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเผด็จการและสร้างตราบาปและความเจ็บปวดให้กับชาวฟิลิปปินส์ไม่น้อยเลย แม้เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จะเสียชีวิตไปนานถึง 32 ปีแล้ว

ขณะที่อีเมลดา หลังสามีเสียชีวิตได้กลับมาฟิลิปปินส์ และกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ และผู้ว่าการจังหวัดอิโลคอสนอร์เต ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของตระกูลมาร์กอสถึง 2 สมัย

อีเมลดา มารดา ในวัย 94 ปี ยังมีสุขภาพแข็งแรง และมีตำแหน่งประธานพรรคสมาพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ (Partido Federal ng Pilipinas)เช่นเดียวกับ "บองบอง" ก็ไม่เคยยอมพ่าย แม้บนเส้นทางการเมืองที่ผ่านมาเขาจะล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง 

เบื้องหลังชัยชนะท่วมท้น

กวี จงกิจถาวร ผู้สื่อข่าวอาวุโส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวต่างประเทศ วิเคราะห์ชัยชนะที่ท่วมท้นของบองบอง ว่า มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรกผู้ที่เลือก บองบอง ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ที่อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี และผู้ที่สนับสนุนไม่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากกระทำในยุคของเฟอร์ดินานด์ มากอส

ประเด็นที่สอง ขณะนี้ชาวฟิลิปปินส์ทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ปัจจุบันฟิลิปปินส์ส่งออกเเรงงานไปทำงานต่างประเทศทั่วโลกและมากที่สุดในอาเซียนถึง 11 ล้านคน

บองบอง ขายความนิยมให้ชาวฟิลิปปินส์ ในประเด็นที่ว่า การก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศเขาจะนำยุคทองให้กลับคืนสู่ฟิลิปปินส์ เหมือนกับสมัยที่พ่อของเขาเคยทำ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์

และย้ำว่าประเด็นที่ 3 ที่สำคัญ คือ การมีตัวเลือกเป็นรองประธานาธิบดีที่มีคนรู้จักมาก และเคยเป็นคู่แข่งกันมาก่อนแล้ว ไม่ต้องแนะนำแต่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงได้ คือ ซารา ดูเตอร์เต ที่มีส่วนช่วยให้บองบองได้คะแนนเสียงอย่างล้นหลาม และเป็นคู่แข่งที่ไม่มีใครสามารถชนะได้

ส่วนประเด็นการใช้สื่อโซเชียล และอินฟลูเอนเซอร์ ให้เข้ามาเป็นกระบอกเสียงหลักแทนสื่อกระแสหลัก ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่กวี มองว่า เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้เขาได้ชัยชนะแบบไร้รอยต่อ

บองบอง สามารถสื่อข้อความที่เขาต้องการใช้ผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากกล่าวถึงโซเชียลมีเดีย เห็นได้ว่าแต่ละสังคมใช้โซเชียลมีเดียต่างกัน ไม่เฉพาะบองบอง แต่นักการเมืองฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ ใช้โซเชียลมีเดียนานแล้ว เพราะชาวฟิลิปปินส์ชอบการสื่อสาร

ชิงพื้นที่ย้ำภาพลักษณ์

กวี บอกว่า ฟิลิปปินส์มีผู้ใช้แรงงานอยู่ในต่างประเทศ (Over sea workers) อยู่ทั่วโลกมากกว่า 11 ล้านคน การใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือ และแอปพลิเคชัน จึงมีความทันสมัยมาก และเป็นประเทศที่ก้าวไกลที่สุดในการใช้แอปพลิเคชันในการเจาะกลุ่มตลาด (target) ผ่านโซเชียลมีเดีย และจุดนี้ทำให้บองบองได้รับความนิยมอย่างสูง

ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อนนักข่าวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเขาไม่ได้ข่าวจากกลุ่มของบองบองเลย เขาจะให้ข่าวแค่เฉพาะกลุ่มของโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ หรืออินฟูเอ็นเซอร์ ซึ่งได้วางตัวไว้แล้ว และข่าวต่าง ๆ ก็จะออกมาจากคนกลุ่มนี้เท่านั้น

สำหรับประเด็นนี้ กวี อธิบายว่า ต่างจากการหาเสียงของของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ใช้โซเชียลมีเดียช่วงชิงพื้นที่หาเสียงบนโลกโซเชียลได้ก่อนพรรคการเมืองอื่น และมีเป้าหมายไปที่การตลาดบนโซเชียลมีเดีย เพราะสามารถส่งข้อความหรือ Massage ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว ตรงเป้า และไม่ผ่านสื่อกระเเสหลักโดยตรง

กวี ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหาเสียงของไทยบนสื่อกระเเสหลัก จะเห็นว่าข่าวการหาเสียงของพรรคก้าวไกลนั้นมีน้อยกว่า และส่วนใหญ่จะเป็นข่าวทางลบ ส่วนตัวเห็นว่าเขาฉลาดมากที่ใช้โซเชียลสื่อสารกับกลุ่มเยาวชน ซึ่งอาจจะเป็นคนที่เพิ่งเคยโหวตครั้งแรก หรือครั้งที่สอง เรียกได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่

หากวิเคราะห์ชัยชนะของบองบองในฟิลิปปินส์ และการเมืองไทยเมื่อช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีความเหมือนและต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ประเด็นต่างคือ กลุ่มสนับสนุนบองบอง ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี ขณะที่ของไทยเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และอาจมีคนที่ชอบ Massage ของพรรคก้าวไกลที่อายุ 30 และคนที่อายุมากกว่านั้นรวมอยู่ด้วยเช่นกัน

ทายาทการเมืองกับภาพจำยุคทอง

กวี บอกว่า นอกจากนี้บองบอง ยังใช้ยุทธวิธีที่ฉลาดในการหาเสียง คือ ไม่มีการลบประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น แต่เน้นเลือกเฉพาะในยุค Gloden Era หรือยุคทองของฟิลิปปินส์ ที่บิดาของตนทำได้ดี หรือการเลือกสรรค์สิ่งที่ประชาชน หรือปู่ย่า ตายายจำได้ โดยไม่พูดเรื่องเลวร้าย เช่น การคอร์รัปชัน

เขาไม่ลบประวัติศาสตร์ แต่เลือกหยิบเอาประวัติศาสตร์ที่เป็นผลดีมาใช้ และจริง ๆ เขาก็ไม่ได้อยากลบ เพราะตระกูลของมาร์กอส เป็นตระกูลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน การเมืองฟิลลิปปินส์มีเรื่องน่าสนใจตรงที่แต่ละตระกูลมีประวัติมาก่อน เหมือนบ้านใหญ่ของไทย

กวี บอกว่า หากเปรียบเทียบความเป็นทายาทของการเป็นตระกูลการเมืองระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ บองบองเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส ขณะที่ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร เป็นลูกสาวของ "ทักษิณ ชินวัตร" ทั้งสองคนมีสิ่งที่เหมือนคือ เรื่องประวัติศาสตร์ของตระกูลที่มีความต่อเนื่องมายาวนาน เรียกว่า "ทายาททางการเมือง" ซึ่งไม่ได้มีอยู่เฉพาะ South East Asia แต่ประเทศอื่น ๆ ก็มีในลักษณะเดียวกัน

เขาย้ำว่า ในฟิลิปปินส์ตระกูลที่มีบทบาททางด้านการเมืองก็พยายามที่จะสืบต่อทายาททางการเมือง ขณะที่ตระกูลชินวัตรมีความชัดเจนเรื่องการสืบทายาทต่อเช่นกัน

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็นคนที่ทำให้ประชาชน รู้สึกเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของตระกูล จะเห็นได้ว่าในการหาเสียงหาก คุณอุ๊งอิ๊ง ไปปราศรัยคนก็จะสนใจมาฟัง ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นคนรุ่นใหม่ แต่คนที่มาฟังส่วนหนึ่งเป็นคนรุ่นเก่า ซึ่งรู้จักคุณทักษิณมาก่อน

ส่วนภาพลักษณ์ในการเป็นไฮโซแต่ดูติดดิน เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์นิยมเลือกบองบองหรือไม่ นักข่าวอาวุโส บอกว่า ชาวฟิลิปปินส์ อยากจะเห็นคนที่เป็นผู้นำทำงานจริง ๆ และรู้ปัญหาจริง ๆ อย่างเช่น ดูเตอร์เต ที่มีประสบการณ์ทำงานกับพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้นำจะต้องแสดงตัวว่าติดดิน

ภาพลักษณ์ที่สำคัญมาก ๆ คือ ภาพของคนที่ลงมือทำจริง ๆ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาจากการใช้โซเชียลมีเดียมานำเสนอ อีกประเด็นที่นักการเมืองไทยและฟิลิปปินส์ ไม่ต่างกัน คือ การเป็นทายาทตระกูลการเมือง

กวี กล่าวว่า ทายาทตระกูลการเมืองเป็นสิ่งที่มีความต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งไม่ได้มีอยู่แค่ใน South East Asia แต่ประเทศอื่นก็มีในลักษณะเดียวกัน เช่น เกาหลี ปากีสถาน อินเดีย ยกตัวอย่างปากีสถานที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่เหมือนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง