วันนี้ (30 มิ.ย.2566) เป็นวันสุดท้ายจากทั้งหมด 3 วันที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ญี่ปุ่น เข้าตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ก่อนที่จะออกใบอนุญาต หากไม่มีปัญหาอะไร โดยคาดว่าการพิจารณาอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นบริษัท TEPCO จึงจะสามารถเริ่มปล่อยน้ำลงสู่ทะเลได้
แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันถึงวันที่แน่ชัด แต่ชาวเกาหลีใต้ที่กังวลถึงความปลอดภัยของน้ำทะเล เริ่มออกมากักตุนสินค้า โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดหลายแห่งในเกาหลีใต้ ชั้นวางสินค้าที่ตามปกติจะมีเกลือยี่ห้อต่างๆ วางขายอยู่ หมดเกลี้ยง
ลูกค้าวัย 73 ปีคนหนึ่ง กล่าวว่า มาหาซื้อเกลือทีไรก็หมดตลอดและคงต้องกลับมาดูใหม่อีกทีคราวหน้า เพราะอยากซื้อเกลือไปเก็บไว้ที่บ้าน หลังจากกังวลถึงการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งของผู้บริโภคในเกาหลีใต้จำนวนไม่น้อย นับตั้งแต่ทราบข่าวญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในเร็วๆ นี้ จึงออกมาหาซื้อทั้งเกลือและอาหารทะเล รวมถึงสาหร่ายทะเล มาเก็บไว้ติดบ้านเพื่อความปลอดภัย
เมื่อคนเริ่มกักตุนสินค้า ทำให้ราคาสินค้านั้นๆ พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาเกลือในเดือน มิ.ย.นี้ แพงขึ้นกว่าเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาเกือบร้อยละ 27 ขณะที่ยอดขายเกลือครึ่งเดือนแรกของเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 มากกว่าร้อยละ 55 แต่หากเป็นเกลือสมุทร ยอดขายกระโดดขึ้นไปเกือบร้อยละ 120
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงมหาสมุทรและการประมง ตัดสินใจเปิดคลังสำรองและนำเกลือออกมาวันละประมาณ 50 ตัน เพื่อขายให้กับประชาชนในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดร้อยละ 20 โดยเริ่มนำมาวางขายวันแรกเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา และจะขายไปจนถึงวันที่ 11 ก.ค.
รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้มองว่าสถานการณ์นี้เกิดจากการกักตุนสินค้าของภาคครัวเรือน แต่เชื่อว่าเกลือขาดตลาดเพราะผลิตได้น้อยกว่าปกติและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ซึ่งหากมีฝนตกลดลงและแดดแรงขึ้น ก็อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
ด้านผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า จริงๆ แล้วประชาชนไม่จำเป็นต้องกังวลถึงความปลอดภัยของเกลือสมุทร เพราะทริเทียมที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจากโรงไฟฟ้าอยู่ในรูปของเหลว ซึ่งจะระเหยออกไปจนหมดระหว่างกระบวนการผลิตเกลือ
ขณะที่กัมมันตภาพรังสีอื่นๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำ เช่น ซีเซียม ถูกกำจัดออกไปแล้วผ่านระบบบำบัดที่มีชื่อว่า ระบบแปรรูปของเหลวขั้นสูง หรือ ALPS ตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ก่อนที่จะทำให้น้ำนั้นเจือจางแล้วค่อยปล่อยลงสู่ทะเล
เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่เคลื่อนไหวต่อต้านการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด โดยผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อต้นเดือน มิ.ย.2566 ซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ Hankook Ilbo ของเกาหลีใต้ และ Yomiuri Shimbun ของญี่ปุ่น พบว่า แม้น้ำจากโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นจะถูกบำบัดแล้ว แต่ชาวเกาหลีใต้มากกว่า 8 ใน 10 คน ยังคงคัดค้านการปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเล
ตัวเลขนี้สอดคล้องกับผลสำรวจจากหลายสำนักก่อนหน้านี้ รวมถึงผลสำรวจการบริโภคอาหารทะเล โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 คน บอกว่าจะกินอาหารทะเลน้อยลง หากญี่ปุ่นเดินหน้าปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าตามแผน
ความกังวลจากภาคประชาชนที่มากขึ้น ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่น อย่างกรณีการผลิตเกลือ ทางการประกาศแผนยกระดับการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในนาเกลือ ตั้งแต่เดือน ก.ค. ไปจนถึงสิ้นปี 2566 จำนวน 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตเกลือทั้งประเทศ
หลังจากปัจจุบันตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ออกตรวจวัดและทดสอบการปนเปื้อนเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 10 แห่ง ขณะที่ตอนเกิดเหตุเมื่อปี 2011 เจ้าหน้าที่เคยทดสอบการปนเปื้อน 286 ครั้ง ซึ่งไม่พบกัมมันตภาพรังสี
ขณะนี้ ญี่ปุ่นเก็บน้ำปนเปื้อนไว้กว่า 1,000 ถัง และจะมีที่เหลือพอเก็บไปจนถึงปี 2567 เท่านั้น ดังนั้นการปล่อยน้ำจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และแม้ว่าญี่ปุ่นจะบำบัดน้ำจนดีกว่าค่ามาตรฐานสากล แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาถึงผลกระทบในระยะยาวจากน้ำที่ปนเปื้อนในระดับต่ำ
วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่นๆ