หากเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม วันที่ 2 ก.ค.นี้ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ช้างไทยจากจ.สุรินทร์ ในโครงการทูตสันถวไมตรีที่รัฐบาลไทยมอบให้กับศรีลังกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบันจะกลับสู่บ้านเกิด หลังพลัดพรากจากแผ่นดินแม่นานถึง 22 ปี
"กลับบ้านมั้ย" เสียงร้องกลับพร้อมกับชูงวง "เอ๊ก-เอ๊ก"
คำบอกเล่า จากหนึ่งในผู้ที่เดินทางไปเตรียมความพร้อม จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างอารมณ์ดี นิสัยไม่ก้าวร้าว และเชื่อว่าเขารับรู้ว่ากำลังจะได้เดินทางกลับไทย เพราะเสียงตอบรับเมื่อได้เสียงถามเป็นภาษาไทย ตอบรับด้วยเสียงเอ๊กๆๆ แปร๋นๆๆ อยู่หลายครั้ง
เจ้าหน้าที่ทีมไทย ลงตรวจเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ที่สวนสัตว์ Dehiwala ประเทศศรีลังกา
การจัดเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของแผนเคลื่อนย้ายช้างให้ปลอดภัยตั้งแต่การจัดทำสร้างกรงพิเศษรองรับกับขนาดของลำตัว งวงที่ยาวพิเศษ และการเตรียมควาญ สัตวแพทย์ที่จะคอยประกบระหว่างการเดินทางในเครื่องบิน 6 ชั่วโมง ด้วยเครื่องบิน Ilyushin IL-76 มาถึงสนามบินเชียงใหม่ จึงต้องรัดกุมมากที่สุด
อ่านข่าวเพิ่ม พา "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย 2 ก.ค.นี้ ลุ้นเจรจาอยู่ไทยยาว
“พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่สวนสัตว์ Dehiwala ประเทศศรีลังกา
ครั้งแรกทีมไทยขนช้างด้วยเครื่องบินกลับบ้าน
ข้อกังวลในการขนช้างที่มีอายุถึง 30 ปี งายาวเกือบ 1 เมตร และมีน้ำหนักถึง 3.5 ตัน และเป็นครั้งแรกของทีมไทย จึงถือเป็นภารกิจสุดท้าทาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของพลายศักดิ์สุรินทร์
น.สพ.วิศิษฎ์ อาศัยธรรมกุล ผช.ผอ.สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์ บอกว่า หลังจากพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สุขภาพดีขึ้นมาก ฝีบริเวณหลังทั้งสองข้างแผลเริ่มแห้ง และมีขนาดเล็กลง ในด้านสภาพจิตใจ สดใส ร่าเริง กินอาหารขับถ่ายได้ตามปกติ สัตวแพทย์ประเมินแล้วพลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพดี
น.สพ.วิศิษฎ์ อาศัยธรรมกุล ผช.ผอ.สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ระบุถึงแผนการดูแลช้างบนเครื่องบิน
เขาบอกว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ หลังจากกรงเสร็จสมบูรณ์ 100% จะเริ่มนำกรงมาฝึกเข้า-ออกกรงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะการฝึกช้างให้คุ้นชิ้นกับควาญช้างที่จะเดินทางไปในวันที่ 10 มิ.ย.นี้
ช้างจะเลือกว่าคนไหนที่เข้ากันได้ ทั้งนี้คาดว่าช่วงวันที่ 10 มิ.ย-28 มิ.ย.นี้ จะเป็นช่วงประเมินความพร้อมของพลายศักดิ์สุรินทร์ก่อนขึ้นเครื่อง
กรงขนย้าย
สำหรับการออกแบบกรงจะมีท่อระบายของเสีย ต่อเชื่อมสู่ที่เก็บของเสีย และเตรียมอาหารภายในกรงให้พร้อม โดยจะไม่วางยาซึม หากไม่จำเป็น เน้นทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างควาญกับช้างให้มากที่สุด เพราะการวางยาซึมมีผลต่อหัวใจของช้าง เมื่ออยู่ที่สูงบนเครื่องบิน อาจมีความเสี่ยงตายกลางอากาศได้
ดังนั้น ขั้นตอนการเดินทางบนเครื่องบิน จะไม่มีการใช้ยาซึม เพราะยิ่งอยู่บนอากาศมีความเสี่ยงกับตัวสัตว์ จึงจะใช้เสียงของควาญคอยปลอบ และพูดคุย ซึ่งช้างอาจมีความเครียดหมือนกับคนเวลาขึ้นเครื่อง เบื้องต้นมีการจำกัดที่นั่ง จึงจะมีควาญ 2 คน สัตวแพทย์ 2 คน
เครื่องบินเดินทาง 5-6 ชั่วโมงต้องเตรียมน้ำ อาหารให้กับช้างเพียงพอ และดูแลสภาพจิตใจจะมีควาญช้างและสัตวแพทย์ประกบ ซึ่งจะนั่งในจุดที่อยู่กับช้าง ต้องทำให้เกิดความวางใจระหว่างคนกับช้าง สื่อระหว่างคนกับช้าง
นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า เดิมต้องการให้ทีมควาญช้าง สัตวแพทย์คอยประกบพลายศักดิ์สุรินทร์ ในระหว่างอยู่บนเครื่อง Ilyushin IL-76 จำนวน 6 คนแต่ข้อจำกัดของเครื่องจึงลดเหลือเพียง 4 คนเท่านั้น
นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุเป็นครั้งแรกทีมไทยขนย้ายช้าง ต้องดูแลให้ปลอดภัย
โดยยอมรับว่าข้อกังวล คือเป็นครั้งแรกที่ขนช้างขนาดใหญ่ และอายุมาก ขึ้นเครื่องกลับไทย ในระยะเวลา 5-6 ชม.จึงต้องไม่ทำให้ช้างเครียดทั้งจากการขนส่ง และแรงดันบนเครื่องที่ช้างก็จะมีความกังวล ซึ่งได้มีการศึกษาการเคลื่อนช้างจากประเทศอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ เคยมีการขนย้ายช้างจากปากีสถานมาที่กัมพูชา แต่ช้างเชือกนั้นไม่มีงา ต่างกับงาของพลายศักดิ์สุรินทร์ที่มีความยาวถึง 1 เมตร จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
ส่วนข้อเสนอจากควาญพงศ์ ที่เคยเลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์และไไปดูแลพลายที่ศรีลังกานาน 6 เดือนและไม่ได้เดินทางไปรับ อยากทำอุปกรณ์ป้องกันงาไม่ให้เสียหาย ก็พร้อมรับความช่วยเหลือ เพื่อให้ช้างเดินทางมาปลอดภัยมากที่สุด
อ่านข่าวเพิ่ม เปิดภาพกรง "พลายศักดิ์สุรินทร์" คืบ 50 % เล็งฝึกเดินเข้าออกให้คุ้นชิน
เส้นทางการบินจากศรีลังกามาไทย ใช้เวลา 6 ชั่วโมงต้องมีควาญดูแลไม่ให้ช้างเครียด
ไทม์ไลน์ 22 ปี พลายศักดิ์สุรินทร์ก่อนกลับบ้านเกิด
ม.ค.2544 รัฐบาลไทยมอบช้างให้รัฐบาลศรีลังกา ประธานาธิบดีของประเทศศรีลังกา มีหนังสืออย่างเป็นทางการ ขอลูกช้างตัวผู้จากประเทศไทย เพื่อนำไปฝึกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ม.ค.2565 สอบถามข้อเท็จจริงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีหนังสือสอบถามมายัง กรมอุทยานฯ ให้พิจารณาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับช้างพลายศักดิ์สุรินทร์
ส.ค. 2565 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยทส.ขอความอนุเคราะห์กระทรวงการต่างประเทศ โดย สำนักเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์
ก.ย.2565 ตรวจสอบสุขภาพ คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์จาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบสุขภาพช้าง
พ.ย.2565 ย้ายช้างไปที่สวนสัตว์แห่งชาติ การประชุมร่วมระหว่าง ทส. กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าช้างมีปัญหาสุขภาพ ควรได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม โดยในชั้นต้นควรย้ายช้างไปยังสถานที่ที่เหมาะสม
ก.พ. 2566 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบ รัฐบาลศรีลังกา โดยกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ควรได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความช่วยเหลือ ในการดูแลสุขภาพช้าง จึงเห็นชอบในการนำพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย
2 ก.ค. 2566
นำช้างกลับมารักษา นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทยโดยขั้นตอนนี้จะมีการประเมินสุขภาพช้างเบื้องต้น หากมีความเหมาะสม จะการขนส่งโดยรถบรรทุกจากสนามบินเชียงใหม่ไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง
กักกันโรคบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง (ตรงกันข้ามกับสถาบันคชบาล) ระยะเวลา 14 วัน มีการสังเกตอาการ และพฤติกรรมของช้าง จากนั้นเมื่อครบ 14 วัน จะมีการเก็บเลือด ตัวอย่างมูล ตรวจสอบเชื้อที่อาจติดต่อสู่คนและสัตว์ หากปลอดโรค จะเคลื่อนย้ายมาดูแลรักษาอาการ ป่วยในสถาบันคชบาล ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดชื่อ 2 ควาญช้างรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ทำโรงยืนใหม่รักษา