วันนี้ (14 พ.ค.2566) เจ้าหน้าที่เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในเส้นทางและจุดตรวจต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองปัตตานี โดยเฉพาะจุดลงคะแนนเลือกตั้ง ที่มีหลายหน่วยในสถานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีผู้มีสิทธิออกเสียงรวมหลายพันคน
และเพิ่มกำลังประจำการในหน่วยในพื้นที่ห่างไกล เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง หลังจากเมื่อ 2 วัน ที่ผ่านมา เกิดเหตุก่อนกวนเกือบ 30 จุด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหตุลอบวางระเบิดใกล้จุดลงคะแนนใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้เจ้าหน้าทีเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
ร.ต.อ.สมนึก กุลมณี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา ระบุว่า เหตุลอบวางระเบิดจะไม่กระทบต่อการออกมาใช้สิทธิของประชาชนทั้ง 2 หน่วย ซึ่งมีผู้มีสิทธิกว่า 2,000 คน และทั้ง 593หน่วย ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ประจำการอย่างน้อย 4 นาย และจัดชุดเผชิญเหตุเคลื่อนที่
บรรยากาศการเลือกตั้งที่ จ.ปัตตานี วันที่ 14 พ.ค.2566
แต่ก็มีความกังวลหลังการปิดหีบบัตร การนับคะแนนในหน่วย และการขนย้ายหีบบัตร โดยเฉพาะในพื้นที่เสียงที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง เช่น อ.บันนังสตาที่เคยเกิดเหตุลอบวางระเบิดรถขนหีบบัตร เมื่อปี 2564 และในปีนี้ก็ไม่ได้มีการขนย้ายหีบด้วยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ห่างไกล และต้องขนย้ายผ่านทางรถเท่านั้นจึงอาจสุ่มเสี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสของคนในพื้นที่อีกครั้งที่จะได้เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ หลัง 19 ปี ของเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน และบาดเจ็บกว่า 13,000 คน
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยได้ใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาไปแล้วกว่า 480,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงปี 2559 ถึง ปัจจุบัน ที่มีการตั้งงบประมาณในการแก้ปัญหาโดยเฉลี่ยสูงถึง 34,000 ล้านบาท
แต่จนถึงวันนี้ ความรุนแรงก็ยังคงยืดเยื้อเรื้อรัง ส่งผลกระทบเกือบทุกด้านสำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เกิดการย้ายถิ่น ไร้งานทำ และยังทำให้เกิดปัญหาสังคมทับซ้อนเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติด 3 ใน 10 ของจังหวัดที่ยากจนมากที่สุดในประเทศมานานกว่า 10 ปี ไม่นับรวมปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่าจังหวัดอื่น ๆ ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่ง
บรรยากาศการเลือกตั้งที่ จ.ปัตตานี วันที่ 14 พ.ค.2566
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยการพูดคุยสันติสุข ระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย และกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่หากย้อนมองพัฒนาการของการพูดคุยที่ดำเนินการมานานกว่า 10 ปี ก็ยังอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP
จึงมีเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลชุดใหม่ หรือ นักการเมือง ที่อยากให้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อกำหนดชะตาของตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตามอง คือ หลังการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่มาทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย เชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบรรจุไว้ในวาระแห่งชาติแล้ว
นอกจากนี้ ความน่าสนใจในการเลือกตั้งของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือที่นี่มีสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Time Voter อายุระหว่าง 18-22 ปี มากที่สุด จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนครั้งแรกทั่วประเทศ โดย จ.ปัตตานี ร้อยละ 12 จ.ยะลา ร้อยละ 11.53 และนราธิวาส ร้อยละ 11.38 ทำให้ กกต.ของทั้ง 3 จังหวัด เชื่อว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 80-90
บรรยากาศการเลือกตั้งที่ จ.ปัตตานี วันที่ 14 พ.ค.2566
ขณะที่ นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 เพราะความตื่นตัวทางการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่ง จ.ปัตตานี มีผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มกำนัน และผู้ใหญ่บ้านที่ห้ามมีพฤติกรรมข่มขู่ประชาชนให้เลือกใครคนใดคนหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง 2566 : "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม-เศรษฐา" ทยอยใช้สิทธิเลือกตั้ง
เลือกตั้ง 2566: เปิดหีบเลือกตั้ง "ชลบุรี" ประชาชนมาใช้สิทธิคึกคัก