รัฐแมสซาชูเซตส์ ถือเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีคนไทย นักเรียนไทยอาศัยอยู่ที่นี่อยู่จำนวนไม่น้อย และจากนโยบายการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า จากจีน เวียดนาม ไทย และจากหลายๆ ประเทศ สร้างความกังวลให้กับคนที่อาศัยอยู่ที่นี่
ตลาดจีนในบอสตัน เป็นหนึ่งในตลาด ที่คนเอเชีย นิยมมาซื้อของกินของใช้ มีสินค้าทั้งจากจีน ไทย เวียดนาม ซึ่งจากการสำรวจสินค้ามีขายอยู่ต่อเนื่อง ทั้งข้าวหอมมะลิที่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ จากไทย รวมถึง จีน และเวียดนาม
ขณะที่มีคนไทยบางส่วนมาซื้อสินค้าเพื่อตุนไว้ ยอมรับกังวลว่าอาจจะมีสินค้าบางอย่างมีราคาสูงขึ้นจึงมาเลือกซื้อสินค้าเก็บตุนไว้รวมถึงต้องมีการเตรียมปรับตัว

แม้สินค้าอุปโภคบริโภคจะยังไม่ขึ้นราคาแต่ได้มีการสั่งของจากจีนเข้ามาพบว่าสินค้าที่จะส่งหลังจากเดือนนี้จะมีราคาเพิ่มขึ้นมากว่า 1,800 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ล่าสุดค่าส่งจะอยู่ที่ 3,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
จากที่ได้คุยกับคนที่นี่หลายๆ คน บอกว่าก่อนหน้านโยบายขึ้นภาษี ในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา เศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่องหากครั้งนี้ส่งผลต่อค่าครองชีพ ก็ต้องปรับตัว
"คนออกมาจับจ่ายใช้สอยคิดว่าน้อยลง อย่างร้านอาหารลูกค้าจะน้อยลงกว่าช่วงก่อน เพราะทุกคนต้องเซฟ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทั้งผู้ประกอบการเองทั้งราคาสินค้าที่จะปรับสูงขึ้น รวมทั้งลูกค้าที่อาจจะลดลง เราในฐานะผู้บริโภคต้องมีการเตรียมตัวว่าสินค้าจะมีการปรับราคาที่สูงขึ้น"
ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ซึ่งได้มีการสต็อกสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม จำพวกวัตถุดิบการประกอบอาหารไทย หลักๆ คือกะทิสำเร็จรูป พริกแกง ซอส และผงปรุงรส รวมถึงข้าวสาร
ส่วนตัวซื้อตุนไว้ แต่ไม่มาก เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าสินค้าจะขึ้นหรือไม่

แม้สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สินค้ากลุ่มหลักที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม เหมือนสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่นโทรศัพท์มือถือ หรือรถไฟฟ้า
สิ่งที่คนกังวลจากที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้า บริษัทผู้นำเข้าสินค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายของทั่วไปที่สั่งของจากจีน รวมถึงประเทศที่อยู่ในรายชื่อ หากบริษัทเหล่านี้ไม่อยากแบกต้นทุนไว้เอง ก็จะบวก ต้นทุนภาษี เข้าไปในราคาขายอาจทำให้ราคาสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น เท่ากับ ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาอาจต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย
อ่านข่าว :
จีนโต้กลับสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 84% มีผล 10 เม.ย.
ไทม์ไลน์ 2 มหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา-จีน" งัดข้อตั้งกำแพงภาษี
5 เป้าหมายกำแพงภาษี "ทรัมป์" จ่อประกาศขึ้นภาษีนำเข้ายาครั้งใหญ่