วันนี้ ( 9 เม.ย.2568) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% ว่า จากการสอบถามกลุ่มผู้ส่งออกไทย ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความกังวลมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการซื้อ-ขายล่วงหน้าและมีการตกลงราคาแล้วจะยังสามารถส่งมอบได้หรือไม่ หรือว่าภาษีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าไทย 36% ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเก็บกับผู้นำเข้าไหม เพราะแบบนั้นผู้นำเข้าขึ้นราคาสินค้า ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคของสหรัฐ และมีผลต่อกำลังซื้อและคำสั่งซื้อใหม่ในอนาคต

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย
วันนี้ (9 เม.ย. 2568) จำเป็นจะต้องมีการติดตามรายละเอียดของการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ 2.0 ว่าจะมีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไร จะเหมือนการปรับขึ้นภาษีวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะในเงื่อนไขระบุว่าสินค้าดังกล่าวจะต้องส่งมอบ หรือถึงสหรัฐก่อนวันที่ 27 พ.ค.2568 ถ้าหลังจากนั้นสินค้าจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%
ประธานหอการค้า กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการเก็บภาษียังไม่มีความชัดเจนมากนัก โดยผู้นำเข้าก็ยังไม่มั่นใจ ทำให้ต้องชะลอส่งมอบสินค้า โดยขณะที่ไทยต้องการขายสินค้า ดังนั้น การเจรจาต่อรองจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้า

คำสั่งซื้อใหม่ชัดเจนว่าจะยังไม่มี เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่รู้ว่าอัตราภาษีที่ปรับขึ้นจะเป็นภาระของใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งในช่วงเม.ย.ถึงพ.ค. 2568 การส่งออกยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับมาตรการของภาครัฐ 5 แนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาทรัมป์ 2.0 เอกชนเห็นด้วยและพอใจในหลักการ ซึ่งเป็นแนวทางที่เอกชนได้มีการเข้าไปพูดคุย หารือกับภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2568 รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ โดยสิ่งที่จำเป็นจะต้องเข้าไปดูโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้าเกษตร มาตรการทางกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องแก้ไขรวมไปถึงการสวมสิทธิใช้ไทยเป็นแหล่งส่งออก หรือการใช้ถิ่นกำเนิดไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ เรื่องนี้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาดูแลและเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะใน 49 หมวดสินค้าสำคัญ

ความเสียหายตอนนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดคือไทยเสียโอกาสที่จะส่งมอบสินค้า สต๊อกสินค้าที่ผลิตจะมีโอกาสส่งออกไหม คำสั่งซื้อใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไร
อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะฝากภาครัฐด้านการเจรจากับสหรัฐ อยากให้จัด ทีมไทยแลนด์ ขึ้นมา โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการวิเคราะห์ สรุปข้อมูล เพราะมองว่าอยากให้มีคณะที่สามารถจะเคาะมาตรการสรุปการเดินหน้าแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และค่อยจัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการย่อยในการทำงานต่อไป

ประธานหอการค้ากล่าวว่า มีคนถามว่าการแก้ไขปัญหาในตอนนี้ช้าไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ามองว่าไม่ช้า แต่ก็ไม่เร็ว และการแบ่งทีมที่ภาครัฐสรุปออกมานั้นถือว่าดี แต่ก็ยังต้องการให้จัดเป็นคณะเดียว นายกฯ เป็นประธาน
ส่วนทีมเจรจานั้นจำเป็นจะต้องเป็นนายกฯ หรือไม่ เห็นว่าไม่จำเป็น และทีมเจรจากับคณะทำงานแยกกันได้ เป็นคนละส่วน และการเจรจาสิ่งที่สหรัฐต้องการให้ไทยนำเข้าก็จะมี 4 หมวดสำคัญคือ พลังงาน เกษตร-อาหาร เครื่องบิน อาวุธ เป็นสิ่งที่จะต้องมาหารือ และต้องยอมรับว่าการเจรจานั้นย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย
อ่านข่าว:
ทางออกการค้าไทย รับมือภาษีทรัมป์ “พาณิชย์”เร่งปิด FTA ไทย-EU
"สงครามการค้า" ทรัมป์ ขยี้ตลาดเงิน-ทองคำ-หุ้น สะเทือนลงทุนโลก
เปิดขั้นตอน “ทรัมป์” เก็บภาษีไทย 9 เม.ย.ขึ้น 36% เว้นสินค้าที่ลงเรือแล้ว