ไม่ว่าจะเดินทางกลับบ้านหรือออกทริปในช่วงวันหยุดยาว การขับรถทางไกลด้วยรถยนต์ส่วนตัวจำเป็นต้องใช้ "สมาธิ" อยู่เสมอ แต่เมื่อจุดหมายปลายทางอยู่ไกล หลายคนก็มักเผชิญกับความเหนื่อยล้า ง่วงนอน และรู้สึกไม่สดชื่นเต็มที่ แล้วจะดีแค่ไหนหากได้แวะพักงีบสัก 10–20 นาที เติมพลังให้ร่างกาย
"Power Nap" คือ การงีบหลับช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้พัก ประมาณ 20 นาที และเมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นขึ้น
ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ที่ 20 นาที เพราะหากงีบนานกว่านั้น จะเข้าสู่ภาวะหลับลึก เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกมึนงง เฉื่อยชา และไม่สดชื่น แทนที่จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า กลับกลายเป็นอ่อนเพลียกว่าเดิม ในส่วนท่านอนที่เหมาะสมและช่วยให้รู้สึกสบาย ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

เวลาที่เหมาะสมที่ควร "งีบ"
เรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมมีข้อมูลจาก สสส. และ เว็บไซต์สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ อธิบายไว้ดังนี้
- 10 – 20 นาที ช่วยเพิ่มพลังงานและคืนความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง เพราะอยู่ในช่วงหลับตื้น (Non-REM) ที่ตื่นได้ง่ายและไม่รู้สึกมึนงง
- 30 นาที อาจไม่ใช่เวลางีบที่เหมาะนัก เพราะตื่นมาแล้วมักยังงัวเงีย มึนงง รู้สึกเหมือนยังนอนไม่พอ ต้องใช้เวลาอีก 20–30 นาที กว่าจะกลับมาอยู่ในโหมดพร้อมลุย
- 60 นาที เป็นช่วงที่ดีต่อความจำ เป็นการหลับลึกที่ยังคงความง่วง แต่สมองสามารถเสริมความจำดีไว้ได้
- 90 นาที เป็นการนอนที่ครบรอบ กล่าวคือ มีหลับลึกและไม่ลึกมากนัก อาจมีการฝันบ้าง ช่วยให้อารมณ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่งัวเงียเหมือนช่วง 30 – 60 นาที
หากอยากให้สมองและร่างกายได้พักสักแป๊บ ลองงีบ 20 นาที แล้วดูความเปลี่ยนแปลงกัน
ข้อควรระวัง จอดงีบ ช่วงพักเดินทาง
- หาที่จอดรถให้ปลอดภัยก่อนเสมอ ควรจอดรถในจุดพักรถ ที่จอดริมทางที่ได้รับอนุญาต หรือสถานที่ที่มีความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการจอดข้างถนนที่มีรถผ่านไปมา
- ไม่ควรงีบในจุดอับหรือมืดเปลี่ยว เลือกจุดที่มีผู้คนหรือแสงสว่างเพียงพอ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด
- ตั้งเวลางีบไม่ให้นานเกินไป ช่วงเวลางีบที่เหมาะสมคือ 10–20 นาที เพื่อให้ร่างกายได้รีเฟรช โดยไม่ทำให้รู้สึกมึนงงหรือง่วงหนักกว่าเดิม
- ล็อกรถให้เรียบร้อยก่อนงีบ ปลอดภัยไว้ก่อน ล็อครถทุกครั้ง และอย่าวางของมีค่าไว้ในที่ล่อตา
- ระบายอากาศในรถให้เหมาะสม อย่าปิดกระจกมิดชิดจนขาดอากาศ ควรแง้มกระจกเล็กน้อยหรือเปิดระบบหมุนเวียนอากาศในรถ
- หลีกเลี่ยงการงีบในจุดที่อากาศร้อนจัดหรือเย็นเกินไป อุณหภูมิที่สบายช่วยให้การงีบมีคุณภาพ
ช่วงเวลาที่ร่างกายง่วงนอนสูง ทำให้เดิดการหลับในขณะขับรถ 13.00 -15.00 และ 02.00 - 04.00 น.

เช็กสัญญาณเตือน "หลับใน" อย่าฝืนขับต่อ
ขับรถอยู่ดี ๆ แล้วตาปรือ สมองเบลอ มือจับพวงมาลัยแต่ใจเหมือนลอยไปไกล
หลายเหตุการณ์บนท้องถนนที่จบไม่สวย มักเกิดจาก "ความเหนื่อยล้า" ที่ทำให้เราตอบสนองช้ากว่าปกติ สมาธิลดลง ความตื่นตัวหายวับไปกับถนน ชวนทุกคนมา เช็กสัญญาณเตือน ว่ากำลังเสี่ยง "หลับใน" หรือไม่ พร้อมเคล็ดไม่ลับแบบง่ายๆ ที่ช่วยให้ขับขี่ปลอดภัย ถึงที่หมายแบบไม่ต้องเสี่ยง
- หาวบ่อย และหาวในเวลาใกล้เคียงกัน
- ลืมตาไม่ขึ้น ตาล้า มองเห็นภาพไม่ชัด
- รู้สึกหนักศีรษะ เหนื่อยล้า หงุดหงิด
- ใจลอย ไม่มีสมาธิ ไม่เห็นไฟจราจรเปลี่ยนไป หรือทำผิดป้ายจราจร
- จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาบ้าง ในช่วง 2-3 กิโลเมตรก่อน
- ขับรถส่ายไป-มา ขับออกนอกเลน
ใครที่มีอาการดังกล่าว อย่าประมาณฝืนขับรถต่อ และควรทำดังนี้
- จอดรถนอนพัก 15-20 นาที
- ลงจากรถไปล้างหน้า เดินยืดเส้นยืดสาย
- ดื่มน้ำเย็น ๆ ให้รู้สดชื่นขึ้น
ในการขับรถ ไม่ควรประมาณแม้แต่วินาทีเดียว เพราะนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรงแบบไม่ทันตั้งตัว ได้ วินาทีนั้น รถอาจพุ่งชนคันหน้า หรืออาจพุ่งลงข้างทางได้ ฉะนั้น ยำเตือนอีกรอบ
ง่วง เท่ากับ หยุดพัก อย่าฝืน เพราะชีวิตคุณและคนอื่นบนถนนมีค่ามากกว่ารีบไปให้ถึงที่หมาย

ง่วงไม่ขับ เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง
ขับรถไกลช่วงหยุดยาว ไม่ใช่แค่เตรียมเส้นทางกับน้ำมันเท่านั้น ร่างกายก็ต้องพร้อม เพราะแค่วูบเดียว อาจพลาดครั้งใหญ่ ก่อนออกเดินทางจึงต้องเตรียมตัว
- นอนให้พอ วันละ 7–9 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2–3 วัน ก่อนออกเดินทาง
- งดแอลกอฮอล์ และเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก (หากมียาจำเป็นต้องกิน ให้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน)
- เตรียมของแก้ง่วงติดรถ ผลไม้เปรี้ยว หรือหมากฝรั่ง กระตุ้นให้ตื่นตัว สดชื่นขึ้น
- ดื่นน้ำเย็น ๆ ทำให้รู้สึกสดชื่น
ขับรถปลอดภัย ไม่กลัวหลับใน
- การเดินทางในระยะไกลๆ ควรปรับท่านั่งให้ถูกต้อง อย่านั่งเอนมากเกินไป
- จิบน้ำบ่อยๆ ร่างกายสดชื่น สมองไม่เบลอ ช่วยให้กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
- หยุดพักทุก 2 ชม. หรือทุก 150 กม. ยืดเส้น ยืดสาย สลัดความง่วง
- เปิดกระจก ปิดแอร์บ้าง ให้ลมเย็นๆ ช่วยปลุกความตื่นตัว
- ง่วงเมื่อไหร่ ต้องหยุดทันที แค่หลับ 10–15 นาที ก็ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น
อ้างอิงข้อมูล กรมการขนส่งทางบก, กระทรวงสาธารณสุข, สสส.
อ่านข่าว : โหลดกันยัง? รวมแอปแจ้งเตือนแผ่นดินไหว