ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คิวผู้ป่วยจิตเวช รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ล้นข้ามปีถึง ต.ค.67

สังคม
23 ก.พ. 66
18:24
2,647
Logo Thai PBS
คิวผู้ป่วยจิตเวช รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ล้นข้ามปีถึง ต.ค.67
หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เผยผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาคิวล้น ขณะนี้คิวผู้ป่วยจิตเวชใหม่ยาวถึงเดือน ต.ค.67 ส่วนหนึ่งเพราะความเครียดจากโควิด-19 รวมถึงอาการจากกัญชา กระท่อมและยาเสพติด

ป้ายคิวนัดพบจิตแพทย์ ยาวไปถึงเดือน ต.ค.2567 ติดอยู่ภายในคลินิกสุขภาพจิต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อแจ้งให้ผู้ป่วยใหม่ที่ต้องการเข้ารับการรักษา ได้รู้ว่าขณะนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากที่รอรับบริการ และเป็นข้อมูลทางเลือกให้ผู้ป่วยตัดสินใจก่อนเข้ารับบริการที่คลินิกแห่งนี้

ผศ.พญ.มุทิตา พนาสถิตย์ จิตแพทย์ทั่วไปและหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกิดปัญหาคิวล้น จากที่เคยรอคิว 3 เดือน กลายเป็น 6 เดือนถึง 1 ปี

ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สะสมจนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเสรีกัญชา ใบกระท่อมและยาเสพติด ที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา กระสับกระส่าย จนถึงประสาทหลอน

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้นเป็นปัญหาต่อการรักษา เนื่องจากจำนวนจิตแพทย์และบุคลากรเฉพาะทาง ทั้งพยาบาลและนักจิตวิทยาที่มีไม่เพียงพอ บางจังหวัดจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งจังหวัด

แม้ว่าคิวผู้ป่วยจิตเวชใหม่ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จะยาวไปถึงปี 2567 แต่มีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงแยกออกมา เพื่อให้การรักษาเร่งด่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยอาการคงที่จะจัดลำดับตามคิวที่เหมาะสม

ผศ.พญ.มุทิตา เชื่อว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้สถานการณ์โควิด-19 จะผ่อนคลาย เพราะด้วยปัญหาตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่มีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งยืนยันได้จากจำนวนเด็กอายุ 10 ปีลงไป มีการเข้าปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ พยาบาลเฉพาะทางและนักจิตวิทยา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย

อ่านข่าวอื่นๆ

คนไทยป่วยไตเรื้อรังเพิ่ม - 2 แสนคนต้องฟอกไต-ล้างทางช่องท้อง

บ.ในอังกฤษทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ พบอัตรา "ลาออก-ลาป่วย-ความเครียด" ลด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง