ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่งถึง 2 ครั้ง และยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีก สิ่งนี้ไม่เพียงสะท้อนอิทธิพลทางการเมืองของเขา แต่ยังเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของกลไกถ่วงดุลอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่มีอายุยาวนานกว่า 230 ปี
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2025 สหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อคลื่นประชาชนทั่วประเทศรวมตัวกันในการประท้วงครั้งใหญ่ภายใต้แคมเปญ "Hands Off" ซึ่งเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อชุดนโยบายอันขัดแย้งที่ทรัมป์ประกาศทันทีหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
มือที่แตะต้องสิทธิเสรีภาพ จุดชนวน "Hands Off"
การประท้วง Hands Off ไม่ใช่เพียงการแสดงความไม่พอใจแบบธรรมดา แต่สะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนว่าผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันนี้กำลัง "ละเมิดขอบเขต" เกินกว่าที่สังคมเสรีนิยมจะยอมรับได้
- การขึ้นภาษีแบบกวาดวงกว้าง ทั้งสินค้านำเข้าและผลิตภายในประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องการผลิตในชาติ ซึ่งในทางกลับกันก่อให้เกิดภาระต่อผู้บริโภคในทุกชนชั้น
- การลดขนาดรัฐ ผ่านการตัดงบประมาณสำคัญจากหน่วยงานกลาง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม
- การฟื้นนโยบายต้านผู้อพยพและขยายอำนาจฝ่ายบริหาร เช่น การใช้อำนาจฝ่ายบริหาร บังคับหน่วยงานต่าง ๆ โดยข้ามการพิจารณาของรัฐสภา
- การปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย เหตุการณ์ที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตภายใต้หลัก "Separation of Powers"
เสียงที่ดังจากท้องถนนทั่ว 50 รัฐในวันประท้วง 5 เม.ย. จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้อง เพื่อให้ทบทวนมาตรการเหล่านี้ แต่ชัดเจนว่าหลายกลุ่มเริ่มเรียกร้องให้ "เปิดกระบวนการถอดถอนอีกครั้ง"

เปิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ถอดถอนประธานาธิบดี
กระบวนการถอดถอน ปธน.สหรัฐฯ ถูกกำหนดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างโดยบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ (Founding Fathers of the United States) ในปี 1787 และให้สัตยาบันในปี 1788 แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษในยุคกลางที่อนุญาตให้รัฐสภาถอดถอนขุนนางหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการสร้างกลไกตรวจสอบและถ่วงดุล (Checks and Balances) เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้นำ โดยกำหนดไว้ใน มาตรา 2 หมวด 4 ว่า
The President, Vice President, and all civil Officers of the United States, shall be removed from Office on Impeachment for, and Conviction of, Treason, Bribery, or other high Crimes and Misdemeanors.
ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่พลเรือนทุกคนของสหรัฐฯ จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เมื่อถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาการทรยศ การติดสินบน หรืออาชญากรรมและความผิดทางพฤติกรรมระดับสูงอื่น ๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือคำว่า "High Crimes and Misdemeanors" ซึ่งเป็นวลีที่เปิดให้ตีความได้กว้าง ไม่จำกัดอยู่เพียง "อาชญากรรม" ตามกฎหมายอาญา แต่รวมถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมผู้นำ และการฝ่าฝืนบทบาทตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
การถูกถอดถอนจึงไม่จำเป็นต้องเกิดจากการ "ทำผิดกฎหมาย" เท่านั้น แต่สามารถเป็นผลจาก "การประพฤติผิดในหน้าที่ทางการเมืองอย่างร้ายแรง" ได้ด้วย

บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสหรัฐฯ
บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสหรัฐฯ
เพื่อเข้าใจว่าเหตุใดทรัมป์ถึง "รอด" จากการถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ทั้ง 2 ครั้ง จำเป็นต้องเข้าใจข้อเท็จจริงทางรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และกระบวนการถอดถอนที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
-
สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ยื่นญัตติถอดถอน (Article of Impeachment) หากญัตติผ่านด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ญัตติจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา (Senate)
-
วุฒิสภาจะทำหน้าที่คล้ายศาลพิจารณาคดี โดยต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกอย่างน้อย 2 ใน 3 (67 จาก 100 เสียง) จึงจะสามารถถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ ขั้นตอนนี้เรียกว่า Removal หรือ ถูกถอดถอน
แต่การจะได้เสียง 2 ใน 3 ในวุฒิสภานั้นยากมาก โดยเฉพาะหากพรรคของประธานาธิบดีควบคุมวุฒิสภา หรือหากวุฒิสมาชิกมองว่าเหตุผลของการถอดถอนนั้นไม่สมเหตุสมผลพอ และใช่! รัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากในสภาสูง

บรรยากาศการประชุมในรัฐสภา ญัตติถอดถอน บิล คลินตัน
บรรยากาศการประชุมในรัฐสภา ญัตติถอดถอน บิล คลินตัน
2 ครั้ง "ทรัมป์" ถูกยื่นถอดถอนแต่ไม่ถูกถอดถอน
ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2019 สภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครต กล่าวหาว่า ปธน.ทรัมป์ (สมัยที่ 1) ใช้อำนาจในการระงับเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลยูเครน ไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวให้การ และ ไม่ส่งเอกสารตามที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ ร้องขอในกระบวนการสอบสวนคดี "ยูเครน" จึงถือว่า "ขัดขวางรัฐสภา" เพื่อกดดันให้สอบสวน ฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของ โจ ไบเดน คู่แข่งทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2020
ข้อกล่าวหา : ใช้อำนาจในทางมิชอบ (Abuse of Power) และ แทรกแซงกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภา (Obstruction of Congress)
ผลลัพธ์ : สส.ยื่นถอดถอน แต่ สว.ไม่ถอดถอน (คะแนนโหวตจากวุฒิสภาไม่ถึง 2 ใน 3)

การยื่นถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยแรก
การยื่นถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยแรก
ครั้งที่ 2 เหตุการณ์จลาจลในวันที่ 6 ม.ค.2021 ที่ผู้สนับสนุนของทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาในระหว่างการรับรองผลเลือกตั้ง ที่ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง การ "ยุยงให้เกิดการจลาจล" หมายถึง การใช้คำพูดหรือการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนากระตุ้นให้ประชาชนลุกฮือต่อสู้ ต่อต้าน หรือใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลอย่างผิดกฎหมาย โดยข้อกล่าวหานี้ พุ่งตรงไปที่คำปราศรัยของทรัมป์ ก่อนการบุกที่เขาใช้ถ้อยคำว่า "fight like hell" และกล่าวหาว่าการเลือกตั้งถูกขโมย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนก่อเหตุ
ข้อกล่าวหา : ยุยงปลุกปั่นให้ก่อการจลาจล หรือ ปลุกระดมให้ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง (Incitement of Insurrection)
ผลลัพธ์ : ถูกยื่นถอดถอนเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่ถูกถอดถอนอยู่ดี
"ทรัมป์" ไม่ใช่คนแรกที่ถูกยื่นถอดถอน
- แอนดรูว์ จอห์นสัน (1868) ปธน.คนแรก ที่ถูกยื่นถอดถอน
รอง ปธน.แอนดรูว์ จอห์นสัน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1865 หลังการลอบสังหาร ปธน.อับราฮัม ลินคอล์น เขาเป็นเดโมแครตจากรัฐเทนเนสซีที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยม ต่อต้านการให้สิทธิแก่ชาวแอฟริกันอเมริกันที่เพิ่งได้รับอิสรภาพหลังเลิกทาส ก็คือสนับสนุนให้ยังมีระบบทาสต่อไป
จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อจอห์นสัน สั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม "เอดวิน สแตนตัน" ออกจากตำแหน่ง โดยไม่ขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามที่กำหนด ไว้ในกฎหมาย Tenure of Office Act การกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการละเมิดกฎหมายและใช้อำนาจในทางที่ผิด นำไปสู่การยื่นญัตติถอดถอนในสภาผู้แทนราษฎรด้วยข้อหา 11 กระทง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องถึงวุฒิสภา การลงมติครั้งสุดท้ายกลับได้เสียง "ไม่ถอดถอน" ด้วยคะแนน 35 ต่อ 19 (ต้องการ 36 เสียงจาก 54 เสียงจึงจะถอดถอนสำเร็จ) ส่งผลให้เขารอดพ้นจากการถูกปลดจากตำแหน่งด้วยความต่างเพียง 1 เสียง

อดีต ปธน.แอนดรูว์ แจ็กสัน
อดีต ปธน.แอนดรูว์ แจ็กสัน
- บิล คลินตัน (1998) เมื่อเรื่องส่วนตัวกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ
บิล คลินตัน ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในยุค 1990 เขาได้รับความนิยมสูงจากผลงานด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่กลับเผชิญมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่จาก คดีความสัมพันธ์ลับกับมอนิกา ลูวินสกี อดีตนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว
เรื่องดังกล่าวเริ่มต้นจากการสืบสวนของอัยการพิเศษ ขยายขอบเขตจากคดีธุรกิจ มาสู่เรื่องส่วนตัว จนสุดท้ายพบว่า คลินตันให้การเป็นเท็จต่อคณะลูกขุนใหญ่ และมีความพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ด้วยการโน้มน้าวให้พยานปฏิเสธข้อมูล
การกระทำของ ปธน.คลินตัน แม้ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยตรง แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดให้ "การให้การเท็จ" และ "การขัดขวางกระบวนการของศาล" เป็นความผิดในระดับ "High Crimes and Misdemeanors"
สส.จึงมีมติยื่นถอดถอนคลินตันด้วยข้อหา 2 กระทง อย่างไรก็ตาม ผลการลงคะแนนของ สว. ก็ไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 คลินตันจึงกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่รอดการถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

อดีต ปธน.บิล คลินตัน
อดีต ปธน.บิล คลินตัน
ประชาชนเรียกร้องถอดถอนประธานาธิบดีได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ "ไม่ได้" การประท้วงนับล้านอาจเป็นเพียงเสียงสะท้อนความไม่พอใจ โดยไม่มีผลทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรม
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ประชาชนยื่นถอดถอนประธานาธิบดีโดยตรง เช่น การล่ารายชื่อ แต่ประชาชนยังมีอำนาจสำคัญในการผลักดันผ่านการประท้วงและเรียกร้องต่อสาธารณะ การยื่นจดหมาย คำร้องไปยังสมาชิกรัฐสภา การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกลางเทอมเพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบในสภา
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนสามารถจุดไฟสร้างแรงกดดัน ให้สมาชิกรัฐสภานำเสนอข้อกล่าวหาได้ หากพบพฤติกรรมของประธานาธิบดีที่เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญหรือหลักการประชาธิปไตย
ในขณะที่การประท้วง "Hands Off" ยังคงขยายตัว และคะแนนนิยมของทรัมป์ในหมู่กลุ่มเสรีนิยมตกต่ำลงทุกวัน คำถามใหญ่ยังคงก้องอยู่ในหมู่ประชาชน "นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการยื่นถอดถอนทรัมป์ เป็นครั้งที่ 3 หรือไม่ ?"
หากเกิดขึ้นจริง ทรัมป์จะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกยื่นญัตติถอดถอนถึง 3 ครั้ง สร้างบรรทัดฐานใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน และกลายเป็นกรณีศึกษาในอนาคตว่า
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออำนาจของประชาชนต้องสู้กับอำนาจของรัฐ
และรัฐธรรมนูญจะยืนหยัดปกป้องหลักการประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่
รู้หรือไม่ : ในปี 1974 ปธน.ริชาร์ด นิกสัน เกือบถูกถอดถอนจากตำแหน่งจากกรณีวอเตอร์เกต (Watergate Scandal) แต่เขาลาออกก่อนที่สภาจะลงมติ

ที่มา : U.S. Constitution, Library of Congress, Congressional Records
อ่านข่าวอื่น :
กลยุทธ์ไทยโต้ภาษี "ทรัมป์" นักวิชาการแนะอาเซียนผนึกกำลังต่อรอง
ทรัมป์สุมไฟเพิ่ม! ขู่ไม่คุยจีน ขึ้นภาษีรวม 104% หากไม่หยุดตอบโต้