หลังจาก ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกถอดถอน คำถามต่อไปคือ จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า วิกฤตการเมืองครั้งนี้ สร้างความสั่นสะเทือนในวงการระหว่างประเทศอย่างมาก เนื่องจากเกาหลีใต้มีฐานเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 10 ของโลก และยังเป็นหนึ่งในเสาหลักด้านความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองครั้งนี้ จึงอาจส่งผลระยะยาวต่อภูมิภาคโดยรวม
รัฐธรรมนูญเกาหลีกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันข้างหน้า ผลการเลือกตั้งมีนัยสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ขณะนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มหาเสียงกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคนี้เคยแพ้การเลือกตั้งครั้งก่อนอย่างหวุดหวิด ครานี้จึงถือเป็นโอกาสทองของ ลี แจ-มยอง ที่จะกลับมาล้างแค้นและทวงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลให้ได้
ฝ่ายค้านเองก็เผชิญกับอุปสรรคสำคัญคือ ตัวหัวหน้าพรรคอย่าง ลี แจ-มยอง ซึ่งมีหลายคดีความที่เกี่ยวกับการทุจริต ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสและซื่อสัตย์ทางการเมือง หากเขาชนะเลือกตั้งครั้งนี้ เท่ากับว่าประธานาธิบดีคนต่อไปอาจเป็นบุคคลที่มีประวัติสีเทา แทนที่ประธานาธิบดียุน
สิ่งที่ประชาชนเกาหลีใต้กังวลมากที่สุด คือ แนวนโยบายต่างประเทศของพรรคประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มต่อต้านสหรัฐฯ และเอนเอียงไปทางจีนและเกาหลีเหนือ ย้อนกลับไปเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ตอนที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกเพียง 6 ชั่วโมง ก็ได้อ้างภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือเป็นเหตุผลหลัก
โอกาสที่หัวหน้าฝ่ายค้านอย่างลีจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพิ่งประกาศขึ้นกำแพงภาษี 25 % กับสินค้าจากเกาหลีใต้ ทั้งที่เกาหลีใต้ เป็นพันธมิตรแนวหน้าของสหรัฐฯ และมีการเจรจาการค้าอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์ กลับทำให้คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้นทันที

ฉะนั้น ในเกมการเมืองครั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องเหนื่อยแน่นอน เนื่องจากเกิดความแตกแยกภายในพรรคเอง ระหว่างกลุ่มอำนาจที่ต้องการผลักดันผู้สมัครของฝ่ายตน แต่ยังไม่มีใครที่มีศักยภาพพอจะโค่นผู้นำฝ่ายค้านลงได้
ประเทศที่จับตาการเมืองเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด ที่สุดคงหนีไม่พ้นเกาหลีเหนือ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่แสดงความเห็นใดๆ ออกมา หากฝ่ายค้านชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ คาดว่าเปียงยางจะยินดีไม่น้อย พรรคประชาธิปไตยมีนโยบายสายสัมพันธ์อันดีต่อ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ
ส่วนความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้นั้น แม้จะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันอันเข้มข้น ไทยเคยส่งทหารร่วมรบในสงครามเกาหลี วัฒนธรรม K-pop และซีรีย์เกาหลีได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นไทย แต่การลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอื่นอย่างเวียดนาม ที่บริษัทใหญ่อย่างซัมซุงและฮุนได เลือกเป็นฐานผลิตหลัก ตัวเลขการลงทุนในไทยยังไม่ติดอันดับ

น่าเสียดาย เกาหลีใต้มองไทยเป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นและจีนยึดครองตลาดอยู่ จึงอาจไม่อยากเข้ามาแข่งขันโดยตรง ดังนั้น ไทยควรเร่งเข้าหาเกาหลีใต้ พร้อมยื่นข้อเสนอที่จะสนับสนุนการลงทุน หากไม่รีบลงมือก็จะเป็นการเสียโอกาสครั้งใหญ่ เพราะแม้จะมีคนไทยเรียนภาษาเกาหลีมากถึง 45,000 คน เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังไม่ก่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจหรือการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของไทยอย่างแท้จริง มีนักเรียนไทยเรียนในเกาหลีใต้ประมาณ 1,500 คน แต่นักเรียนจากเวียดนามมีมากถึง 50,000 คน
ในด้านความมั่นคง ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ก็มีความสำคัญไม่น้อย ทุกปีร่วมฝึกโคบราโกลด์ ทั้งคู่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ในแต่ละปีจะมีชาวเกาหลีเหนือหลบหนีเข้ามาในไทยเพื่อขอลี้ภัยการเมืองเป็นจำนวนมาก
แม้ในช่วงโควิดจะลดลง แต่ขณะนี้ตัวเลขกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวชายแดนภาคเหนือแถบสามเหลี่ยมทองคำ ไทยและเกาหลีใต้ร่วมมือกันดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้อย่างเงียบๆ ผ่านกระบวนการตรวจสอบและจัดทำเอกสารเพื่อส่งต่อไปยังเกาหลีใต้

ที่ห้องประชุมบริเวณเส้นแบ่งเขตสองเกาหลีที่จุดปลอดทหารพันมุนจอม ยังมีธงชาติไทย ตั้งอยู่บนโต๊ะประดับเคียงข้างกับอีก 15 ประเทศที่ร่วมรบในสงครามเกาหลี แม้เกาหลีเหนือจะเคยเรียกร้องให้ไทยถอนธงออก แต่ไทยยืนยันไม่ยอม เพราะสงครามเกาหลียังไม่ได้สิ้นสุดโดยทางการ ยังไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพ มีเพียงข้อตกลงหยุดยิงเท่านั้น
การเลือกตั้งใหม่ในเกาหลีใต้ครั้งนี้จึงถือเป็น “โอกาสทอง” ของรัฐบาลไทยที่จะเดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสมดุลระหว่างจีนและญี่ปุ่นในภูมิภาค เพื่อยกระดับฐานะความมั่งคั่ง และบทบาทของไทยบนเวทีเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ
มองเทศ คิดไทย โดย : กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส
อ่านข่าว
ศาลตัดสินเอกฉันท์ 8-0 ถอดถอน "ยุน ซอก-ยอล" จาก ปธน.เกาหลีใต้