ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนภัยแอบอ้าง จนท.สายการบิน แจกตั๋วบินฟรี

อาชญากรรม
26 ม.ค. 66
06:45
351
Logo Thai PBS
เตือนภัยแอบอ้าง จนท.สายการบิน แจกตั๋วบินฟรี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบิน แจกตั๋วเครื่องบินฟรีในฤดูกาลท่องเที่ยว แนะ 9 วิธีป้องกัน อย่ากดลิงก์ที่แนบมากับ SMS ดาวน์โหลดแอปฯ และโปรแกรมผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

วันที่ 25 ม.ค.2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์เปิดเผยถึงกรณีผู้เสียหายหลายคนถูกมิจฉาชีพส่ง SMS มายังโทรศัพท์มือถือของตนเอง แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินต่าง ๆ พร้อมกับข้อความลักษณะว่า “ขอบคุณที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับบินเที่ยวฟรี” โดยให้กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มเพื่อนสายการบินทางแอปพลิเคชันไลน์

จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้เสียหายสอบถามข้อมูลต่าง ๆ และหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของสายการบินที่ส่งให้ทางไลน์อีกครั้ง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าว มิจฉาชีพจะหลอกให้เข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงิน หรือให้ตั้งรหัส PIN 6 หลัก รวมถึงการให้สิทธิ์แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่าง ๆ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามา และควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเมื่อใดก็ได้ โดยจะทิ้งระยะเวลาให้ผู้เสียหายตายใจ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะสังเกตพฤติกรรม เช่น ใช้ธนาคารใด มีเงินในบัญชีเท่าใด และจดจำรหัสผ่านจากที่ผู้เสียหายกดเข้าระบบของแอปพลิเคชันธนาคาร กระทั่งเวลาผ่านไปจนเผลอ เมื่อได้โอกาสมิจฉาชีพจะเชื่อมต่อแล้วโอนเงินออกจากบัญชีไป

โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว มิจฉาชีพจะใช้ความไม่รู้และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ใช้ความสมัครใจหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ หรือตราของสายการบินเพื่อให้แอปพลิเคชันปลอมดังกล่าวเหมือนของแอปพลิเคชันจริง และมีความน่าเชื่อถือ โดยต้องสังเกตให้ดีถึงจะทราบว่าไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ฝากไปยังประชาชนให้ระมัดระวังมีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล ของฟรีไม่มีในโลก รวมไปถึงฝากแจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด หรือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานนั้น ๆ หากพบเห็นข้อความ ลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้ช่วยตรวจสอบ เพื่อลดการตกเป็นผู้เสียหาย

แนะ 9 แนวทางป้องกัน

1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับ SMS หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ หรือให้โปรโมชันต่าง ๆ

2.ไม่ดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

3.ขอให้ตรวจก่อนว่ามาจากสายการบิน หรือหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ ให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ติดต่อกลับ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง

4.ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ขอเข้าถึงอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น โดยควรอนุญาตให้เข้าถึงเท่าที่จำเป็น

5.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่

6.ไม่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ ในจุดให้บริการสาธารณะ หรือจากคนแปลกหน้า

7.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใด ๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด

8.ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ แล้วเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเป็นส่วนตัว เช่น อีเมล ธุรกรรมทางการเงิน การเทรดหุ้น

9.ไม่ควรเข้าใช้เว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น เว็บพนัน เว็บลามกอนาจาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง