ในซีรีส์ชื่อดัง Game of Thrones หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Aenocyon dirus) เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และน่าเกรงขาม ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้พิทักษ์และสหายของตระกูลสตาร์ค ในประวัติศาสตร์ธรรมชาติเมื่อ 12,500 ปีก่อน หมาป่าไดร์วูล์ฟเคยมีชีวิตอยู่ในทวีปอเมริกา เป็นนักล่าชั้นนำที่มีร่างกายใหญ่กว่าหมาป่าสมัยใหม่ ด้วยหน้าอกกว้าง กะโหลกที่แข็งแรง และกรามที่สามารถบดกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2568 บริษัท Colossal Biosciences ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ได้ประกาศความสำเร็จในการนำหมาป่าไดร์วูล์ฟกลับคืนสู่โลก ลูกหมาป่า 3 ตัวที่มีชื่อว่า Romulus, Remus และ Khaleesi
ความสำเร็จนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านนิตยสาร Time ซึ่งนำเสนอภาพหมาป่าสีขาวบริสุทธิ์ที่ดูน่าประทับใจบนหน้าปก บริษัทระบุว่า ได้ใช้ DNA ที่สกัดจากฟอสซิลของไดร์วูล์ฟ ฟันที่มีอายุ 13,000 ปี และกะโหลกอายุ 72,000 ปี เพื่อเปรียบเทียบกับหมาป่าสีเทา (Canis lupus) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยทั้ง 2 สายพันธุ์มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมถึงร้อยละ 99.5
ทีมนักวิจัยได้ดำเนินการตัดต่อพันธุกรรมในยีน 20 ตำแหน่งจากทั้งหมด 19,000 ยีน เพื่อเพิ่มลักษณะเด่นของไดร์วูล์ฟ เช่น ขนหนาสีขาว กะโหลกที่กว้างขึ้น และกรามที่ทรงพลัง
ลูกหมาป่าขนสีขาวทั้ง 3 ตัว เกิดจากการโคลนนิง โดยใช้เซลล์ที่ผ่านการตัดต่อฝังลงในไข่ของสุนัขบ้านที่ทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มบุญ การคลอดทั้งหมดดำเนินการผ่านการผ่าตัดคลอด เพื่อลดความเสี่ยง ปัจจุบัน ลูกหมาตัวผู้ 2 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 และตัวเมียเกิดวันที่ 30 ม.ค.2568 ถูกเลี้ยงดูในสถานที่ควบคุมขนาด 2,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 5,000 ไร่ ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งมีรั้วป้องกันสูง 10 ฟุต ระบบกล้องวงจรปิด โดรน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ผสมผสานเทคโนโลยี โบราณ-ล้ำสมัย
การนำหมาป่าไดร์วูล์ฟ (Dire Wolf) กลับคืนสู่โลก ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ดร. Beth Shapiro หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Colossal Biosciences อธิบายว่า DNA ที่ได้จากฟอสซิลนั้นอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมอย่างมาก เปรียบได้กับ "ชิ้นส่วนที่แตกหักและไม่สมบูรณ์" ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้โคลนนิงได้โดยตรง
ทีมงานจึงหันมาใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ โดยวิเคราะห์ DNA โบราณเพื่อระบุส่วนที่กำหนดลักษณะเฉพาะของไดร์วูล์ฟ เช่น ขนสีขาว และ โครงสร้างร่างกายที่แข็งแกร่ง จากนั้นนำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา
กระบวนการเริ่มจากการนำนิวเคลียสออกจากไข่ของสุนัขบ้าน และแทนที่ด้วยนิวเคลียสจากเซลล์หมาป่าสีเทาที่ผ่านการตัดต่อด้วยเทคโนโลยี CRISPR ตัวอ่อนที่ได้ถูกฝังลงในมดลูกของสุนัขพันธุ์ผสมขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มบุญ โดยทีมงานได้ดำเนินการฝังตัวอ่อนทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งละประมาณ 45 ตัวอ่อน จนได้ลูกหมา 3 ตัวที่มีสุขภาพดี Matt James หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ของบริษัท ระบุว่า การได้ลูกหมาทีละตัวในแต่ละรุ่นช่วยให้การจัดการง่ายขึ้น แม้จะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวัง
ลูกหมาป่าถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้บ้าง แต่ยังคงรักษาสัญชาตญาณตามธรรมชาติ James กล่าวว่า ลูกหมาป่าตัวผู้ 2 ตัว ที่มีอายุมากกว่านั้น เริ่มสำรวจพื้นที่ในสถานที่เลี้ยงมากขึ้น แต่ยังคงกลับมาที่จุดให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ส่วนลูกหมาป่าตัวเมีย ยังแสดงพฤติกรรมระมัดระวังและขี้อาย ซึ่งสอดคล้องกับอายุที่ยังน้อยกว่า เขาคาดว่าเมื่อลูกหมาโตเต็มวัย โดยเฉพาะตัวผู้ที่ระดับฮอร์โมนเพิ่มสูงขึ้น จะแสดงพฤติกรรมที่ชัดเจนขึ้น เช่น การล่าหรือการโต้ตอบทางสังคม
ไดร์วูล์ฟแท้หรือแค่หมาป่าไฮบริด ?
Colossal Biosciences ประกาศว่านี่คือ "ความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการคืนชีพสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์" อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์อิสระหลายท่านแสดงความเห็นแย้ง
ดร. Nic Rawlence นักบรรพพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นไม่ใช่หมาป่าไดร์วูล์ฟที่แท้จริง แต่เป็น "หมาป่าสีเทาที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม" เขาอธิบายว่า DNA โบราณที่ใช้ในการทดลองอยู่ในสภาพที่เสียหายอย่างหนัก ไม่สามารถนำมาใช้สร้างสำเนาที่สมบูรณ์ได้
ดร. Rawlence กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานของ Colossal ใช้ข้อมูลจาก DNA โบราณเพื่อระบุส่วนที่สำคัญ และตัดต่อเข้าไปในพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา ส่งผลให้ลูกหมาที่เกิดมามีลักษณะบางประการที่คล้ายไดร์วูล์ฟ เช่น ขนสีขาวและกะโหลกที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระดับพันธุกรรม ลูกหมาเหล่านี้ยังคงเป็นหมาป่าสีเทาถึงร้อยละ 99.9
เขายังชี้ว่า หมาป่าไดร์วูล์ฟและหมาป่าสีเทาแยกสายวิวัฒนาการออกจากกันมานาน 2,500,000 - 6,000,000 ปี และอยู่ในสกุลที่แตกต่างกัน (Aenocyon และ Canis) จึงไม่ควรถือว่านี่คือการฟื้นคืนสายพันธุ์ที่แท้จริง
ดร. Philip Seddon นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน เห็นพ้องว่า ลูกหมาที่เกิดขึ้นเป็นเพียง "ลูกผสม" ที่มีลักษณะคล้ายไดร์วูล์ฟ แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ดั้งเดิม เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงยีนเพียง 20 ตำแหน่งจากทั้งหมด 19,000 ยีนนั้นไม่เพียงพอที่จะเรียกว่านี่คือไดร์วูล์ฟ
ในทางกลับกัน ดร. Shapiro จาก Colossal โต้แย้งว่า เป้าหมายของโครงการไม่ใช่การสร้างสำเนาที่เหมือน 100% แต่เป็นการฟื้นฟู "ลักษณะที่ใช้งานได้จริง" ของไดร์วูล์ฟ เช่น รูปลักษณ์และความสามารถ ดร. Shapiro ชี้ว่า การจำแนกสายพันธุ์เป็นเพียงกรอบความคิดของมนุษย์ และความสำเร็จนี้ควรได้รับการยอมรับในฐานะนวัตกรรม
Colossal Biosciences ไม่ได้มุ่งหวังเพียงการฟื้นคืนหมาป่าไดร์วูล์ฟเท่านั้น บริษัทมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น โดยวางแผนนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น แมมมอธขนยาว (คาดว่าจะสำเร็จในปี 2571) นกโดโด้ และเสือแทสเมเนียน กลับคืนสู่โลก
Ben Lamm ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ระบุว่า ความสำเร็จนี้เป็นเพียง "ก้าวแรก" ของเทคโนโลยีการคืนชีพที่ครบวงจร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตอีกมากมาย บริษัทได้ระดมทุนไปแล้วกว่า 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2564
นอกเหนือจากการคืนชีพสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ Colossal ยังมุ่งใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น หมาป่าแดง (red wolf) ซึ่งเป็นหมาป่าที่มีความเสี่ยงสูงสุดในปัจจุบัน บริษัทได้ผลิตลูกหมาป่าแดง 2 รุ่นผ่านการโคลนนิง เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชากรของสายพันธุ์นี้ James ระบุว่า เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยแนะนำยีนที่มีประโยชน์เข้าไปในประชากร เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า หมาป่าไดร์วูล์ฟที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปใช้ในระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือไม่ ทีมงานระบุว่า เป้าหมายระยะยาวคือการขยายจำนวนลูกหมาให้กลายเป็นฝูง และอาจพิจารณาการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่นเดียวกับแผนงานสำหรับแมมมอธที่มุ่งหวังให้มีบทบาทในระบบนิเวศแถบอาร์กติก แต่ในขณะนี้ การวิจัยและการดูแลในสถานที่ควบคุมยังคงเป็นจุดสนใจหลัก
คำถามใหญ่ "ดีหรือไม่ดี ?"
นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่า เทคโนโลยีของ Colossal มีศักยภาพในการช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ดร. Michael Knapp จากมหาวิทยาลัยโอทาโก ชี้ว่า การตัดต่อยีนสามารถกำจัดความบกพร่องทางพันธุกรรมหรือเพิ่มลักษณะที่ช่วยให้สัตว์ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เช่น การเพิ่มขนหนาเพื่อทนต่ออากาศหนาว อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อจำกัด เพราะยีนที่ถูกตัดต่ออาจมีผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิด และระบบนิเวศที่สัตว์เหล่านี้เคยอาศัยอยู่อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ในทางกลับกัน ดร. Rawlence แย้งว่า การคืนชีพเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อความเข้าใจเรื่องการสูญพันธุ์ เขากลัวว่าผู้คนจะเริ่มคิดว่า "การสูญพันธุ์ไม่ใช่เรื่องถาวร" ซึ่งอาจลดความพยายามในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ในปัจจุบัน เขาตั้งคำถามว่า หากมนุษย์สามารถ "นำสัตว์กลับมาได้" เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้อย่างไร ?
Christopher Preston นักปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยมอนทานา เห็นด้วยว่า การใช้เงินมหาศาลในโครงการนี้ ซึ่ง Colossal ระดมทุนไปแล้วกว่า 435 ล้านดอลลาร์ อาจไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับการลงทุนในโครงการอนุรักษ์สัตว์ที่มีชีวิตอยู่ เขายังสงสัยว่า หมาป่าไดร์วูล์ฟที่สร้างขึ้นจะมีบทบาทในระบบนิเวศได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ที่แตกต่างจากยุคน้ำแข็งอย่างสิ้นเชิง
ที่มา : CNN, BBC, TIME, Colossal Biosciences
อ่านข่าวอื่น :
ถึงกำหนด 9 เม.ย. "ทรัมป์" รีดภาษีนานาชาติ ไม่อ่อนข้อ "จีน" ขึ้น 104%
รื้อซาก สตง.วันที่ 13 ยังไม่พบผู้สูญหาย นายกฯ สั่ง 90 วันหาสาเหตุ