ความคืบหน้ากรณีเพจเฟซบุ๊กขยะมรสุม โพสต์ภาพเรือใบจอดทับปะการังบริเวณเกาะยาวาซำ แหล่งดำน้ำดูปะการังใกล้กับเกาะปอดะ-ทะเลแหวก ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้ (4 ม.ค.2566) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีพบท้องเรือใบจอดอยู่กลางทะเลครูดทับอยู่บนหินปะการังใต้ทะเลจนเกิดความเสียหาย บริเวณเกาะยาวาซำ จ.กระบี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามเรือดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะจากการตรวจสอบพบปะการังเสียหายและแตกหักเสียหายอย่างมาก จึงไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้
ทั้งนี้ ช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้เน้นย้ำทุกอุทยานแห่งชาติต้องช่วยกันดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดี ไม่เน้นที่รายได้ แต่เน้นหลังปิดฤดูกาลท่องเที่ยวแล้วจะดูแลความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด จึงให้แต่ละอุทยานแห่งชาติต้องประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวให้ดี เกี่ยวกับกฎระเบียบการเยี่ยมชมธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้องไม่ทำลายทรัพยากรจนเสียหายในระดับที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ เพราะธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ดำน้ำสำรวจความเสียหายตามแนวปะการัง จากการตรวจสอบพบว่าแนวปะการังได้รับความเสียหายเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นปะการังเขากวางและดอกไม้ทะเล จากนั้นได้นำข้อมูลส่งให้นักวิชาการ ประเมินค่าเสียหาย ก่อนจะรวบรวมหลักฐาน แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน สภ.อ่าวนาง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ประสานกับเจ้าท่าภูมิภาค สาขากระบี่ ให้ตรวจสอบเรือใบส่วนตัวลำดังกล่าว รวมถึงลาดตระเวนตามหา แต่ไม่พบ ทราบเพียงว่าเป็นเรือใบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จอดประจำอยู่ที่ท่าเรือโบ๊ทลากูน ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง
นายฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า อยู่ระหว่างประสานเจ้าท่าเพื่อเร่งตรวจสอบเรือใบลำดังกล่าวว่าจดทะเบียนที่ใดและใครเป็นผู้ครอบครอง เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
ส่วนของเรือนำเที่ยวที่ฝ่าฝืนแนวทุ่นจะติดตามเจ้าของเรือมาทำการเปรียบเทียบปรับทุกราย รายละ 5,000 บาท เพราะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ เช่นกัน พร้อมกำซับเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ ในการลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ เพื่อป้องกันการกระทำความผิด