ดูเหมือนว่า เศรษฐกิจโลกจะค่อนข้างผันผวนทีเดียว นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะมาตรการด้านภาษีและท่าทีที่ไม่แน่นอน คาดเดาได้ยากของทรัมป์ ทำให้ตลาดไม่รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 2 เม.ย. ตามเวลาในสหรัฐฯ ที่ทรัมป์ประกาศว่า จะเป็นวันแห่งการปลดแอกของอเมริกา
ในความหมายของทรัมป์ คำว่าปลดแอกคือการทำให้สหรัฐฯ เป็นอิสระจากการพึ่งพิงสินค้าจากต่างชาติ ซึ่งวิธีการ ก็คือ การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้หรือเอาคืนประเทศต่างๆ ที่เก็บภาษีสินค้าอเมริกัน โดยไม่สนใจว่าประเทศนั้นๆ จะเป็นมิตรหรือศัตรู โดยทรัมป์มองว่ามาตรการนี้จะช่วยฟื้นคืนชีพและนำพาความมั่งคั่งมากมายกลับคืนสู่สหรัฐฯ ได้อีกครั้ง
มาตรการที่ทรัมป์จะใช้กับแต่ละประเทศ จะขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้นๆ ได้เปรียบสหรัฐฯ มากแค่ไหน แต่ในรายละเอียดว่า ประเทศไหนจะโดนภาษีเท่าไหร่และกับสินค้าอะไรบ้าง ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้
โดยโฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า แผนของผู้นำสหรัฐฯ จะช่วยพลิกระเบียบปฏิบัติด้านการค้าที่ขูดรีดสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อชาวอเมริกัน ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องเอาคืนและทรัมป์กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อชาวอเมริกัน
ข้อมูลจากทางการสหรัฐฯ ชี้ว่า เมื่อเดือน ม.ค. สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 34% หลังยอดการนำเข้าสินค้าพุ่งสูงทะลุ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องการตั้งกำแพงภาษี จึงนำเข้าสินค้าเข้ามามากกว่าปกติเพื่อกักตุนก่อนที่รัฐจะเริ่มการเก็บภาษีนำเข้า
ถ้าแยกเป็นรายประเทศ นับเฉพาะยอดการขาดดุลก้อนใหญ่ๆ จะเห็นว่า จีนนำโด่งใกล้แตะ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยสหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโก ไอร์แลนด์และเวียดนาม ซึ่งเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเวียดนามไม่ใช่อาเซียนชาติเดียวที่กังวลกับสถานการณ์นี้ เพราะมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม ในหลักพันล้านเช่นกัน
ความกังวลเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามร้อนๆ หนาวๆ จนต้องออกตัวแรง ประกาศตัดลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภท ทั้งรถยนต์ แก๊สธรรมชาติเหลว ขาไก่แช่แข็ง แอปเปิลสด ลูกเกดและอื่นๆ หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวียดนามสั่งพิจารณาการจัดเก็บภาษี เพื่อกระตุ้นให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเวียดนามเพิ่มมากขึ้น
โดยในภาพรวม เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก หลังได้อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในสมัยที่ทรัมป์นั่งเก้าอี้ผู้นำสมัยแรกไปแบบเต็มๆ ในฐานะศูนย์กลางการผลิตทางเลือกในเอเชีย ขณะที่สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว
ในช่วงมากกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศมาตรการทางภาษีออกมาหลายระลอก ทั้งประกาศแบบทีเล่นทีจริงที่ไม่รู้ว่าจะเอาจริงเมื่อไหร่ หรือเอาจริงแล้วแต่ก็กลับลำทีหลัง ไปจนถึงพูดจริงทำจริง อย่างเช่นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนก็มาตามนัดเสมอ เริ่มจาก 10% ในสินค้าทุกชนิดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 20% ในเดือนที่แล้ว
ขณะที่การเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากทุกประเทศ 25% เรียกเสียงวิจารณ์และมาตรการตอบโต้จากพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป ส่วนที่กำลังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ นั่นคือ ภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่มาจากประเทศที่ซื้อน้ำมันและแก๊สจากเวเนซุเอลา ขณะที่ภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งทรัมป์ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ไปทั้งโลก
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเอ่ยปากในระหว่างเข้าร่วมประชุมสภายุโรป ว่า ถ้าจำเป็นสหภาพยุโรปก็พร้อมที่จะตอบโต้กำแพงภาษีของสหรัฐฯ ด้วยมาตรการที่แข็งกร้าว แม้ว่าเป้าหมายหลักจะเป็นการเจรจาเพื่อหาทางออกก็ตาม พร้อมทั้งประกาศว่า สหภาพยุโรปจะปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาค รวมทั้งปกป้องประชาชนและบริษัทในยุโรป
ท่าทีของสหภาพยุโรปเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบในเชิงลบของมาตรการทางภาษีของทรัมป์ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังบั่นทอนอิทธิพลและความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับหลายชาติพันธมิตรอีกด้วย
ทรัมป์ เชื่อว่า กำแพงภาษีจะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างยุติธรรม เพิ่มรายได้ให้รัฐปีละ 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างแต้มต่อในการเจรจาการค้าในอนาคตด้วย แต่มาตรการเหล่านี้จะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า และถ้าได้จริงๆ จะคุ้มกับประโยชน์ที่เสียไปหรือไม่ ที่สำคัญต้องจับตาว่าสถานการณ์นี้จะพาโลกเข้าสู่ยุคสงครามการค้าระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
อ่านข่าว :
ไม่ได้ล้อเล่น! ทรัมป์ชี้ "มีวิธี" นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัย 3
ทรัมป์สร้างโลกหลายขั้วให้เป็นจริง เศรษฐกิจเผชิญ "ภาวะเงินเฟ้อ"