ซากคอนกรีตและเศษปูนขนาดมหึมา บางแผ่นหนากว่า 1 เมตร ปะปนไปด้วยเหล็กเส้น ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่บางเส้นมีน้ำหนักมากกว่า 15 กิโลกรัม แผ่นเหล็ก เศษกระจกกระจัดกระจายกองทับกันมีความสูงมากกว่าตึก 5 ชั้น และกินพื้นที่กว่า 5 ไร่
บางจุดยังคงมีร่องรอยให้เห็นถึงโครงสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 30 ชั้นที่พังครืนในช่วงเวลาไม่ถึง 5 วินาที หลังแผ่นดินไหวเมียนมา 8.2 แต่สะเทือนถึงกรุงเทพมหานครเมื่อ 5 วันก่อน กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในการกู้ภัย และค้นหาผู้สูญหาย 70 ชีวิตจากซากตึกถล่ม
ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ทำงานมา 40 ปี ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้หนักที่สุด เพราะอาคารปูนสูง 30 ชั้นถล่มลงมาพร้อมกัน

รถเครนขนาดใหญ่ เครื่องจักรเข้าพื้นทีเพื่อระดมขนย้ายเศษปูนอิฐขนาดใหญ่ตึก สตง.ถล่ม
รถเครนขนาดใหญ่ เครื่องจักรเข้าพื้นทีเพื่อระดมขนย้ายเศษปูนอิฐขนาดใหญ่ตึก สตง.ถล่ม
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกถึงโจทย์หิน เนื่องจากตลอด 5 วันทีมกู้ภัยทั้งไทย และต่างประเทศ ต้องทำงานกลางซากปรักหักพังของตึก
โจทย์แรก คือการค้นหาผู้สูญหายที่ทำงานในตึกแห่งนี้ ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ทำให้ช่วง 2 วันแรกยังไม่สามารถนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าค้นหา เพราะอาจเสี่ยงกับผู้สูญหายที่มีชีวิตใต้ตึก
อ่านข่าว นักวิชาการจับตา “3 รอยเลื่อน” ชี้กระทบแรง เพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินอ่อน
กระทั่งล่วงเลยสู่ชั่วโมงที่ 72 เจ้าหน้าที่มีการปรับยุทธวิธี ด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ารื้อถอนมากขี้น พร้อมทั้งเครื่องจักรใหญ่เข้ามาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบขณะที่การกู้ภัย ทีมกู้ภัยนานาชาติ ยังคงหมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังกำลังอย่างต่อเนื่องตลอด ภาพรวมถือว่าการทำงานของทีมกู้ชีพ ทำมาถูกทางแล้ว
ขณะนี้ได้นำคอนกรีตออกจากพื้นที่ได้ราว 100 ตัน ยอมรับการช่วยชีวิต การรื้อถอนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้จะพบกับข่าวร้ายผู้เสียชีวิตที่พบ 10 ชีวิตแต่ยังนำออกมาไม่ได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม.ลงพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม.ลงพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม
ชัชชาติ บอกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัย เจาะช่องอุโมงค์ไว้หลายจุดแล้ว เพื่อจะเร่งหาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด และในเวลา 18.00 น.วันนี้ จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อนำเครื่องจักรใหญ่เข้าพื้นที่เพิ่มขึ้น และรื้ออาคารด้านบนให้มากขึ้น
แต่ยังต้องดูว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่หรือไม่ หากรื้ออาคารด้านบนทีมกู้ชีพค้นหาผู้รอดชีวิตก็ต้องหยุดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าระหว่างรื้อ หากพบสัญญาณชีพ ทีมกู้ชีพก็จะเข้าพื้นที่

งานหินเศษย่อยคอนกรีต-เหล็กเสี่ยงพัง
การยกคอนกรีต 1 ชิ้นไม่ได้ง่ายเพราะมีน้ำหนักหนักมากอาจเกิดอันตรายกับผู้อยูหน้างาน และเครนน้ำหนัก 100 ตัน แต่เวลาที่ยืดแขนยกน้ำหนักเพียง 20 ตัน และต้องมาซอยย่อยทั้งปูนและเหล็ก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกอีกว่า การจัดการเศษคอนกรีตที่พังถล่มต้องค่อยตัดออกให้เหลือน้ำหนัก 10 ตัน เพื่อให้ปลอดภัยกับทีมปฎิบัติงานและให้ทยอยขนย้ายออกจากพื้นที่
วันนี้เจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย นำอุปกรณ์ เครื่องตัด และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจพื้นที่ เข้ามาที่จุดเกิดเหตุอาคาร เพื่อทำการสำรวจพื้นที่ และเก็บตัวอย่างวัสดุนำไปตรวจสอบ หาข้อเท็จจริงของการก่อสร้างอาคารและสาเหตุของการถล่ม

รวมถึงการตรวจสอบว่าเป็นไปตามโดยได้ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะเจ้าของโครงการ เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน
เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นจะทำการสำรวจพื้นที่ก่อนว่าจะสามารถเข้าไปเก็บตัวอย่างวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็ก และอื่น ๆ ได้ที่บริเวณจุดไหน หรือโซนไหนบ้าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เข้าพื้นที่โซนนั้น ๆ โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานด้วย
อ่านข่าว ดรามา! สตง.สูดลมหายใจก้าวข้ามตึกถล่มลืม 70 ชีวิตใต้ซาก
สำหรับการก่อสร้างสำนักงาน สตง.สร้างขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณ ถ.กำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร งบก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท เป็นอาคาร 30 ชั้นและก่อสร้างแล้ว 30% โดยบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาคือกิจการร่วมค้าไอทีดี ซีอาร์อีซี หรือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

ซากตึกถล่มแผ่นดินไหว แนะย้ายภายใน 1 เดือน
น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกับทาง กทม.เรื่องจัดการขยะตึกถล่มแผ่นดินไหว แต่ทางกทม.มีรูปแบบการการจัดการที่ดีมากอยู่แล้ว
ข้อน่ากังวลของการจัดการตึกถล่มคือปัญหาเรื่องฝุ่น เพราะระหว่างการรื้อถอนซากปูน เศษอิฐจากการก่อสร้างอาจทำฝุ่นฟุ้งกระจายออกมา
เช่นเดียวกับความเห็นของ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ปัญหาจากการซากปรักหักพัง ลำดับแรกคือฝุ่นจากการเจาะรื้อเศษอิฐ คอนกรีตที่อาจทำให้การฟุ้งกระจายรอบพื้นที่ แนะนำผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน ต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และควรมีการทำสแกนกั้นและฉีดน้ำไล่ฝุ่นเป็นระยะๆ

เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำไล่ฝุ่นหลังการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อรื้อโครงสร้างที่พังถล่มลงมา
เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำไล่ฝุ่นหลังการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อรื้อโครงสร้างที่พังถล่มลงมา
ส่วนขยะพวกปูน อิฐ หินจากการก่อสร้างไม่อันตราย สามารถนำไปถมที่ได้ ในพื้นที่ลุ่มที่ขุดดินออกไปแล้ว แต่ไม่แนะนำให้เป็นดินการเกษตร โดยะจะต้องนำปูนแยกออกจากเหล็ก เพื่อนำออกใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เชื่อว่าถ้ามีแบบก่อสร้าง ปริมาณปูน เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร 30 ชั้นแล้วจะช่วยให้คำนวณปริมาณซากเศษตึกที่ถล่มและจัดการได้ โดยประเมินแล้วอาจใช้เวลากว่า 1 เดือนกว่าจะเคลียร์ทั้งหมดออก
ไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการซากปรักหักพังตึกถล่มแผ่นดินไหวมาก่อน แนะนำให้นำบทเรียนจากตุรกีที่เคยเผชิญกับแผ่นดินไหวใหญ่และต้องจัดการซากตึกจำนวนมากที่พังถล่ม
ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก่อนหน้านี้สํานักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน German Federal Ministry for Economic Cooperation (BMZ) ออกแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอน ถึงแม้ว่าของเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอนในประเทศไทยยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่ได้ซ่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้มาก
โดยของเสียประเภทนี้บางส่วนถูกทิ้งอย่างผิดกฏหมาย ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศของเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอนเป็นขยะประเภทหนึ่ง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขยะชุมชนเท่านั้น
อ่านข่าว จนท.โยธาฯ-สตง.เก็บตัวอย่างวัสดุ-เหล็ก ตรวจหาสาเหตุตึกถล่ม

คัดแยกขยะและซากปรักหักพัง
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เสนอแนะ 4 วิธีเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ดังนี้
- สำรวจและประเมินความเสี่ยง สำรวจสภาพโครงสร้างอาคารที่เสียหายอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการถล่มเพิ่มเติม และวางแผนรื้อถอนอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
โดยเฉพาะการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าและก๊าซ ก่อนการปฎิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ครบถ้วน เช่น หน้ากากกันฝุ่น ถุงมือ หมวกนิรภัย
- คัดแยกประเภทขยะและซากปรักหักพัง ขยะทั่วไป เช่น พลาสติก กระดาษ วัสดุที่ไม่เป็นอันตราย สามารรถนำกลับไปรีไซเคิลหรือกำจัดตามกระบวนการ
ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องจัดเก็บในภาชนะเฉพาะ
ซากวัสดุจากการก่อสร้าง ประเภทอิฐ คอนกรีตเหล็ก และไม้ ควรแยกระเภทเพื่อความสะดวกในการขนย้าย
ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร และวัสดุที่ย่อยสลายได้ ควรเร่งกำจัดให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเน่าเสีย และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและป้องกันสัตวพาหะนำโรค
- การจัดการขยะอันตรายเนื่องจากเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูงควรคัดแยกเฉพาะและเก็บรวบรวมใส่ภาชนะที่มีความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันการรั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันสัตว์และแมลงพาหันำโรค
นำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่นการเจาในเตาที่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นไปตามมาตรฐานและมีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการเผา
และการฝังกลบอย่างปลอดภัย
อ่านข่าว เปิด 13 โครงการรัฐไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ชนะประมูล

ห่วงฝุ่นพิษ-แนะผู้ปฏิบัติภารกิจป้องกัน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่ม โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และทีมกู้ภัย ควรปฏิบัติตนเพื่อป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง ดังนี้
- สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ตลอดเวลา โดยสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้
- หากหายใจเอาฝุ่นเข้าไป ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของฝุ่นในโพรงจมูก
- สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น หากจำเป็นต้องเข้าไปควรใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
- ทำความสะอาดบ้านหรืออาคาร และบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง
อ่านข่าว วันแรก! เปิดจราจร ถ.กำแพงเพชร 2 ตึกสตง.ถล่มตาย 15 คน

เศษเหล็กขนาดใหญ่ที่ต้องรื้อถอนออกด้วยความยากลำบาก
เศษเหล็กขนาดใหญ่ที่ต้องรื้อถอนออกด้วยความยากลำบาก
บทเรียน "ตุรกี" เคยเผชิญซากปรักหักพัง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2566 ตุรกีเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งถูกขนานนามภัยพิบัตินี้ว่า “ภัยพิบัติแห่งศตวรรษ” รุนแรงสุดในรอบ 100 ปีที่คร่าชีวิตกว่า 50,000 คน และบาดเจ็บมากกว่า 100,000 คน
ไม่เพียงภัยพิบัติ แต่ตุรกีเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในการกำจัดขยะ เศษหินหรืออิฐที่เหลือจากอาคารอาคาร 227,000 หลัง พังทลายจากแผ่นดินไหว
โดยการเก็บกู้และกวาดเศษซากปรักหักพัง ในช่วง 2 สัปดาห์ รถขุดหลายร้อยคันทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อกำจัดฝุ่นจากซากปรักหักพัง รื้อถอนอาคารที่เหลือ ซึ่งทางการท้องถิ่นพิจารณาว่าไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย Sezgin
เศษหินที่ถูกเก็บไว้ในถังขยะชั่วคราว ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับมลพิษจากสารเคมีต่าง ๆ เช่น แร่ใยหิน ซึ่งเป็นเส้นใยที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่เคยใช้เป็นวัสดุฉนวนในอดีต แต่ตอนนี้ถูกห้ามใช้แล้วในประเทศส่วนใหญ่รวมถึงตุรกี
นำขยะแผ่นดินไหวกลับมาใช้ใหม่
สอดคล้องกับข้อมูลของ NLM หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ระบุความเสี่ยงด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมหลังแผ่นดินไหวในตุรกี-ซีเรียในปี 2566เนื้อหาระบุว่า การกำจัดเศษซากจากภัยพิบัติ และปัญหาการจัดการขยะ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในตุรกีและซีเรียในปี 2566 การจัดการเศษซากจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัยกลายเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของ 2 ประเทศ
เหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้มีเศษซาก ซากปรักหักพัง และสารอันตรายสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพอย่างมากรัฐบาลของตุรกีและซีเรีย ไวมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการพัฒนากลยุทธ์ที่ครอบคลุมสำหรับการจัดการเศษซาก
ขั้นตอนแรกประกอบด้วยการประเมินอย่างครอบคลุมของภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนสูงสุดที่จำเป็นต้องกำจัดเศษซากโดยเร็ว ทีมเฉพาะทางได้รับการส่งไปพร้อมเครื่องจักรหนักและบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเคลียร์เศษซากอย่างเป็นระบบ
โดยมุ่งเน้นไปที่การกู้คืนวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการสร้างใหม่หลังภัยพิบัติเป็นหลัก
พร้อมกันนี้ มีการบังคับใช้ขั้นตอนที่เข้มงวดเพื่อแยกขยะอันตราย เช่น แร่ใยหินและสารอันตรายอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกักเก็บและกำจัดอย่างเหมาะสมในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม
นอกจากนี้ทั้ง 2 ประเทศยังสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทำความสะ อาด โดยระดมชาวเมือง อาสาสมัครในท้องถิ่น เพื่อช่วยในการกำจัดเศษซากและฟื้นฟู การกำจัดเศษซากจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐ องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ