วันนี้ (14 ธ.ค.2565) นักเรียนโรงเรียนบ้านหลีเป๊ะ สาธิตปีนประตูเข้า-ออกโรงเรียน เพื่อให้เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่ล่วงหน้า เห็นว่า พวกเขาต้องทำแบบนี้ทุกวันมานานกว่า 3 สัปดาห์ เพื่อไปโรงเรียน หลังเอกชนผู้อ้างสิทธิ์การครอบครองที่ดิน ให้คนงานสร้างประตูปิดเส้นทาง กั้นระหว่างโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ กับชุมชนดั้งเดิม
เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับฟังปัญหา และข้อเสนอของชาวบ้าน โดยมีตัวแทนนักเรียน ร่วมเรียกร้อง ขอให้เอกชนเปิดทาง และทวงคืน "ที่ดินพิพาท" กลับมาเป็นที่สาธารณะประโยชน์
ชาวบ้าน อ้างว่า จุดนี้เป็นเส้นทางที่นักเรียนเดินทางไปโรงเรียน ชาวบ้านไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ไปสุสานชุมชนชาวเล ชาวประมงใช้ขนส่งสินค้าทะเล และเป็นทางเดินของนักท่องเที่ยว เป็นเส้นทางที่ชาวอูรักลาโว้ยอ้างว่า อยู่มาก่อนตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เอกชน อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน และสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางจนนักเรียนต้องปีนรั้วไปโรงเรียน
ทั้งนี้ เดิมทีเป็นรั้วกึ่งถาวร แต่เมื่อวาน เอกชนสั่งคนงาน นำเหล็กมาเตรียมสร้างประตู จึงทำให้ชาวบ้านกังวลว่า จุดนี้จะถูกปิดตาย ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นข้อพิพาทที่รอการแก้ไข จนเป็นที่มาของภาพที่เด็กในชุดนักเรียน พยายามขัดขวางคนงาน และบางส่วนยกเหล็กกลับไปที่รถ จนเกิดช่วงเวลาชุลมุน โดยมีรายงานว่า มีเด็กบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่ผู้ปกครองประท้วงไม่ให้คนงานเข้ามาก่อสร้าง
เมื่อวาน มีช่วงหนึ่งที่เด็ก ๆ ยกมือไหว้ ขอร้องให้เอกชนเปิดเส้นทาง ขณะที่วันนี้ชาวเล ยังนำเรือกว่า 30 ลำ ไปจอดลอยลำใกล้ชายฝั่ง ปิดป้ายข้อความเรียกร้องให้แก้ปัญหาซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เพื่อส่งต่อข้อความ ไปยังเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ล่วงหน้าวันนี้ (14 ธ.ค.)
ภาค ปชช.แนะรัฐจัดการต้นตอปัญหาพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะ
ด้านนายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ คณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง เสนอให้แก้ปัญหาจากจุดเริ่มต้น คือการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ และมองว่า เป็นการละเลยการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ
ส่วนนายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ระบุว่า ปัญหาที่เดินเกาะหลีเป๊ะ ยืดเยื้อมาหลายปี รัฐบาล คสช.เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ฝ่ายความมั่นคง จัดระเบียบเกาะ แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงคาดหวังให้รัฐบาลเอาจริงเอาจัง เพื่อเป็นโมเดลให้พื้นที่อื่น พร้อมแนะว่า ควรให้ความสำคัญกับชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ ที่เป็นประชากรเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว และการพัฒนาจังหวัด
สำหรับวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านด้วยตัวเอง จากนั้น จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชาวบ้านยังขีดเส้น ให้แก้ปัญหาให้จบ ภายใน 20 วัน หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจะเดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล