เมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.2565 ผู้ช่วยทูตทหารจีน พร้อม ตัวแทนบริษัท CSOC และกองทัพเรือไทยร่วมเจรจา พิจารณาสเปกเครื่องยนต์จีนที่จะใช้ใส่ในเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อจากประเทศจีน เพื่อทดแทนเครื่องยนต์เยอรมนี ที่จีนไม่สามารถหามาทดแทนได้
การเปิดการเจรจาครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 ซึ่งเป็นวันขีดเส้นตายการพิจารณาสเปกเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ยืดเวลาออกมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนั้นสุดท้ายก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งเลื่อนมาเป็นการประชุมในช่วง 2 วันนี้อีกครั้ง
ในอีกด้านหนึ่ง ในการเจรจาครั้งนี้ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ตั้งคำถามว่า
กองทัพเรือกำลังฟอกขาว สร้างความชอบธรรมการใช้เครื่องยนต์จีนหรือไม่
หลังเพจเฟซบุ๊ก “ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นเพจลูกของกองทัพเรือไทย ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิก และลงบทความเชิงอธิบาย ว่าการทำงานของเรือดำน้ำนั้น เครื่องยนต์ (ที่กำลังเป็นที่ถกเถียง) นั้นจะทำหน้าที่เพียงปั่นกระแสไฟฟ้า ไม่ได้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเรือดำน้ำ (ไทยพีบีเอสออนไลน์ตรวจสอบ พบว่าโพสต์ต้นทางได้ถูกลบไปแล้ว)
ซึ่งประเด็นที่สังคมเฝ้าติดตามคือ เมื่อจีนเสนอเครื่องยนต์ที่พัฒนาเอง CHD 620 ให้กองทัพเรือไทยแทน เพื่อใช้สำหรับเรือดำน้ำชั้น Yuan Class รุ่น S26T ลำแรกจากจำนวน 3 ลำที่ไทยสั่งซื้อจากจีน เนื่องจากจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ทดแทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนีได้ พร้อมเรียกร้องไปยังกองทัพเรือ ช่วยอย่าอ้างกับประชาชนว่า ถ้าไม่ยอมรับเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 แล้วจะทำให้เงินที่จ่ายไปแล้วกว่า 7 พันล้านบาทไม่ได้คืน เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองและสัญญาที่กองทัพทำกับฝ่ายจีน
โดยรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามต่อหน้าสื่อมวลชนว่า
เป็นความพยายามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขสัญญาและยอมรับเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ที่ผลิตจากจีน แทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมันใช่หรือไม่
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำถามเพิ่มเติมว่า หรือกองทัพเรือจะยอมแก้ไขสัญญา ให้ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ของจีนในเรือดำน้ำ
เพราะที่ผ่านมาแม้แต่ประเทศจีนเองยังไม่ได้ใช้เองเลย
พร้อมยกตัวอย่างว่า เหมือนเราตั้งใจซื้อรถยนต์ที่ระบุในสัญญาว่า เครื่องยนต์เยอรมนี แต่เอาเข้าจริง กลับบอกว่าจะใช้เครื่องยนต์จีน แล้วเราจะยังซื้ออยู่ไหม
ที่มา : พรรคก้าวไกล