ความสำเร็จครั้งแรกของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปล่อยลูกช้างป่า "ทับเสลา" ใช้ชีวิตในป่าใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง ท่ามกลางการติดตามและเอาใจช่วยจากเหล่า FC แฟนคลับทับเสลา
ภาพ : กรมอุทยานฯ
จากลูกช้างป่าพลัดหลงโขลงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 เฝ้ารอแม่กลับมารับนานนับเดือน กระทั่งถูกเคลื่อนย้ายมาเฟ้นหาแม่รับ จนเข้ากันได้ดีกับ "พังวาเลนไทน์" กว่า 2 ปีที่ได้ฝึกบทเรียนการใช้ชีวิตในธรรมชาติ หัดใช้งวงกินน้ำ-พืชอาหาร เดินลัดเลาะลำธารผ่านโขดหินลื่นชัน ตรวจสุขภาพและความพร้อมทุก ๆ ด้าน ผ่านหลากบททดสอบจนได้ปล่อยคืนสู่ป่า 30 เม.ย.2565
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับผู้ที่เคยผูกผันและดูแลลูกช้างป่า ในวันที่ได้เฝ้ามองการเดินทางครั้งสำคัญของทับเสลา
ต้องทำใจว่าเป็นช้างป่า จะเก็บความน่ารักของเขาไว้ไม่ได้ เราดูแลอนุบาลเพื่อปล่อยคืนสู่ป่า ไม่เหมือนช้างเลี้ยง
ภาณุวัฒน์ สาริวาท หรือฟิล์ม เจ้าหน้าที่ดูแลลูกช้างป่า บอกเล่าถึงเป้าหมายในการดูแลลูกช้างป่าทับเสลา ว่าสุดท้ายแล้วต้องคืนป่าให้สำเร็จ
เขาติดตามลูกช้างมาจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มุ่งหน้าบ้านหลังใหม่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน พ.ย.2563
ป้อนนมลูกช้างตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน ดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าลูกช้างมีความฉลาด แต่เมื่อลูกช้างแข็งแรงขึ้นและมีแม่รับดูแล ก็ต้องเว้นระยะห่างจากคน
ภาณุวัฒน์ หวังว่าโขลงช้างใหญ่จะมารับทับเสลา และในอนาคตจะกลายเป็นแม่ช้างที่ช่วยขยายพันธุกรรมต่อไป
รู้สึกยินดีที่น้องจะได้เข้าป่าจริง ๆ เป็นสิ่งที่ผมกับน้อง ๆ ตั้งใจว่าถ้าปล่อยคืนป่าได้ถือเป็นความสำเร็จ
เช่นเดียวกับ "โตโน่" ที่บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ปล่อยลูกช้างป่ากลับบ้าน เห็นพัฒนาการของทับเสลาตั้งแต่ป้อนนม กินผลไม้ และกินไผ่ได้ ประทับใจกับนิสัยดื้อ ชอบแกล้ง และขี้อ้อนเป็นบางครั้ง
อังสนา มองทรัพย์ อดีตหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้นิยามลูกช้างทับเสลา ว่า เป็นเด็กแข็งแกร่ง ค่อนข้างดื้อ และเป็นตัวของตัวเองสูง
อดีตหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บอกว่า หลังจากได้รับแจ้งพบลูกช้างป่าพลัดหลง เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังออกตามหาจนพบในอีก 1 วันต่อมา ซึ่งได้ดูแลอย่างเต็มที่และลุ้นในช่วงปล่อยในคอกรอโขลงที่หอต้นผึ้ง มีโขลงช้างวนเวียนมาดูและเข้ามาหาในวันที่ 30 ก.ย.2563 แต่สุดท้ายทับเสลาไม่ตามไป อีกทั้งเป็นห่วงความปลอดภัย เพราะมีสุนัขจิ้งจอก เสือโคร่ง หากินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งช่วงที่ดูแลจะเป็นห่วงเรื่องท้องเสีย ต้องพยายามปรับสูตรนมที่เหมาะสม
โจทย์ที่ได้รับมาคือปล่อยคืนป่า จึงพยายามดูแลน้องห่าง ๆ ให้นมเสร็จก็ถอยออก ไม่อยากให้ติดคน
อังสนา ขอบคุณทุกคนที่อยู่เบื้องหลังภารกิจนี้ ลุ้นให้สำเร็จด้วยดี รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทับเสลาใช้ชีวิตร่วมกับโขลงช้างอย่างมีความสุข
ตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ผู้ที่ทำหนังสือขอแม่รับให้ลูกช้างป่า "ทับเสลา" หลังความพยายามคืนโขลงไม่สำเร็จ ด้วยความกังวลว่าหากไม่ได้กินนมจากแม่ช้างแล้วจะส่งผลต่อสุขภาพ ทางสถานีฯ จึงต้องฝึกให้ลูกช้างขึ้น-ลงรถ หัดนั่งรถ เตรียมพร้อมเดินทางขึ้นเหนือ เฟ้นหาแม่รับที่ดอยผาเมือง
หัวหน้าสถานีฯ ห้วยขาแข้ง บอกว่า ยังจำภาพประทับใจเมื่อครั้งลูกช้างยืนเข้าแถวพร้อมเจ้าหน้าที่ ยืนพ้อยเท้าบนแปลงหญ้า ทับเสลาเปรียบเหมือนสมบัติของคนทั้งประเทศ มีแฟนคลับช่วยสนับสนุนบริจาคนมและคอยติดตามอัปเดตชีวิตลูกช้าง
ในวันที่ทับเสลาเดินทางไปใช้ชีวิตในป่าผืนใหญ่ พร้อมพังวาเลนไทน์ น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ อธิบายความพร้อมของทับเสลา ว่า ทีมสัตวแพทย์ให้ความสำคัญสุขภาพของลูกช้าง พบว่าเรียนรู้ได้ดี กินหญ้า ผลไม้ รากไม้ในธรรมชาติได้ พฤติกรรมเข้ากับแม่รับได้ดี เมื่อวาเลนไทน์และทับเสลามีความพร้อม และถึงเวลาเหมาะสมในช่วง 3 เดือนก่อนเข้าฤดูแล้ง ทั้ง 2 ตัวจะได้ปรับตัวกับป่าธรรมชาติ ควบคู่กับเจ้าหน้าที่ติดตามแบบห่าง ๆ ดูความเป็นอยู่และเส้นทางการใช้ชีวิต ในช่วงแรกทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนปรับเป็นเดือนละ 2 ครั้ง
หวังว่าเมื่อทับเสลาเข้าไปในป่าจะพบกับโขลงที่มีอายุใกล้เคียงกัน และสร้างครอบครัวที่อยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ปลดกระดิ่งไม้ปล่อยลูกช้าง “ทับเสลา” คืนป่าพร้อมแม่รับ “วาเลนไทน์”