ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงสะท้อน "ไม่อยากให้ยุบ" ตำรวจรถไฟ

สังคม
26 พ.ย. 65
11:21
939
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อน "ไม่อยากให้ยุบ" ตำรวจรถไฟ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บนรถไฟมีหน่วยงานหลักๆ 2 หน่วยที่ให้ความช่วยเหลือ ปชช. คือ รฟท. และ ตำรวจรถไฟ หากว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า ที่จะไม่มีตำรวจรถไฟอีกแล้ว แน่นอนว่าฝ่ายหนึ่งต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายต้องรับหน้าที่อื่นแทน แต่ดูเหมือนคนที่รับผลกระทบที่สุดคือผู้โดยสารรถไฟ

ย้อนไปร่วมร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ยังใช้ชื่อ “กรมรถไฟหลวง” การเดินทางของประชาชนในยุคนั้นต่างก็อาศัยขบวนรถไฟเป็นพาหนะแทบทั้งสิ้น ทั้งการเดินทางข้ามจังหวัด ย้ายที่อยู่ ท่องเที่ยว ทำงาน หรือขนส่งของ รถไฟไทยได้รับความนิยมมาก และเรียกว่าเป็นพาหนะที่ทันสมัยที่สุดของไทยในขณะนั้น

ผ่านมาร้อยปี รถไฟไทยเปลี่ยนจากความทันสมัยเป็นล้าสมัยในสายตาของคนหลายๆ คน แต่กลับกลายเป็น “เสน่ห์” อีกอย่างหนึ่งในสายตาของคนที่ชื่นชอบการเดินทาง โดยเฉพาะในสายตาชาวต่างชาติ

แม้จะไม่ค่อยสะดวก แต่สบายในการเดินทาง นั่งๆ นอนๆ เรื่อยยาวไปสุดทาง ส่วนหนี่งมาจากการจัดการดูแลความเรียบร้อยของ พนักงานรักษารถ พนักงานขับรถ ช่างเครื่อง ห้ามล้อ และพนักงานดูแลความสะอาด จากหน่วยงาน “การรถไฟแห่งประเทศไทย”

และอีกส่วนหนึ่ง คือการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของผู้โดยสาร ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูและและบังคับใช้กฎหมายของ “ตำรวจรถไฟ”

ตามราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กรณียุบเลิกกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางภายใน 1 ปี หรือสิ้นสุดภายในเดือน ต.ค. 2566 นั้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงสำรวจพื้นที่สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย และตำรวจรถไฟเจ้าของเรื่องนี้

ขนาดมียังมีเรื่อง ไม่มีแล้วจะขนาดไหน - ประชาชน

เรียกว่าร้อยทั้งร้อยก็ตอบคำตอบเดียวกันว่า “ไม่เห็นด้วยที่จะยุบ” เสียงกังวลจากนักเดินทางทั้งไทยและเทศที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้

คนไทยมองว่าการเดินทางโดยรถไฟใช้เวลาค่อนข้างนาน หากเกิดเหตุร้ายขึ้น ใครจะเป็นผู้ป้องปรามเหตุ แม้จะมีข่าวว่าจะจัดจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยมาทำหน้าที่แทน แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วพนักงานรักษาความปลอดภัยจะมีอำนาจเท่าตำรวจรถไฟหรือไม่?

ขนาดมีตำรวจรถไฟยังมีเหตุร้ายเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีแล้วจะขนาดไหนกัน

ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่บอกว่า ที่เลือกมาเที่ยวเมืองไทยนั้น เพราะเมืองไทยสวย อาหารอร่อย ได้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ ของคนในพื้นที่ และที่สำคัญหลายคนบอกว่า ที่ไม่ได้รู้สึกว่าการขึ้นรถไฟอันตราย เพราะเชื่อมั่นในการดูแลรักษาความปลอดภัยของพนักงานบนรถไฟและตำรวจรถไฟ พร้อมกันนี้ยังบอกอีกว่า รู้สึกเสียดายถ้าในอนาคตจะไม่มีตำรวจรถไฟอีก

งานคงหนักขึ้นแต่ต้องทำให้ดีที่สุด – พนักงาน รฟท.

พนักงานทุกคนบนรถไฟ คงต้องเข้มงวดกับการทำงานมากขึ้น

โกศล คิดตะเสน พนักงานรักษารถ 6 ขบวน 71/72ก. บอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ขณะที่กำลังให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารหลายๆ คนที่ขึ้นรถไฟสายกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี

ในช่วงที่มีตำรวจรถไฟ ก็ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันที่ดี ต่างฝ่ายต่างช่วยกันทำหน้าที่เพื่อเป้าหมายเดียวคือ “ความปลอดภัยของผู้โดยสาร”

อันที่จริง ก็อยากให้มีตำรวจรถไฟต่อไป เพราะมิจฉาชีพ เมื่อเห็นเครื่องแบบก็กลัวขึ้นมาบ้าง

เสียงสะท้อนจาก ชาตรี วังสันต์ พนักงานรักษารถ 5 ที่เล่าให้ฟังว่า ในความคิดส่วนตัวของคนที่ทำงานหน้างาน เห็นทั้งปัญหา และระบบการจัดการ นโยบายที่ผู้บริหารส่งลงมาเป็นเวลานาน มองว่า การมีอยู่ของตำรวจรถไฟนั้นน่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสียต่อการบริการประชาชน รวมถึงปัญหายาเสพติดที่เชื่อว่าจะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม

ชาตรีเล่าถึงการจัดการป้องกันการลักลอบขนยาเสพติดผ่านรถไฟว่า ในอดีตนั้น เคยมีนโยบายให้มีสุนัขตำรวจ ขึ้นมาตรวจ ดมหายาเสพติดบนรถไฟก่อนที่จะปล่อยรถ แต่นโยบายนั้นทำได้พักหนึ่งก็ถูกยกเลิกไป

เช่นเดียวกันกับความคิดเห็นของพนักงานขับรถไฟ ช่างซ่อม และห้ามล้อ ที่ก็มองว่า ในแง่ของการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ยังไงก็ต้องเป็นหน้าที่ของตำรวจ ถ้าไม่มีตำรวจรถไฟ หากมีความผิดเกิดขึ้นบนรถไฟ ก็จะถือว่าเป็น “ความผิดเคลื่อนที่” เช่นนี้แล้ว ตำรวจท้องที่ไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือเข้าระงับเหตุได้ท่วงทัน เมื่อไม่มีตำรวจรถไฟ

แต่ในเมื่อนโยบายผู้ใหญ่สั่งมาเป็นเช่นนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็คงทำได้แค่การน้อมรับและทำตาม ยังไงเสียก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง

งานหนักขึ้นแต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดต่อไป

กังวลที่สุดคือความปลอดภัยของประชาชน – ตำรวจรถไฟ

ถึงจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้แล้ว แต่ก็ไม่กังวลอะไรมาก เพราะก็ยังเป็นตำรวจอยู่ ก็ยังมีเงินเดือนตำรวจยังชีพต่อไป แต่ที่กังวลคือความปลอดภัยของประชาชนที่โดยสารรถไฟมากกว่า

หลายคนที่อ่านแล้วอาจจะคิดว่า พูดให้ดูดีหรือเปล่า แต่เมื่อเอาข้อมูลสถิติการเกิดอาชญากรรมบนรถไฟมาเทียบ จะพบได้ว่าความกังวลที่ตำรวจรถไฟนายหนึ่งบอกกับทีมข่าวนั้น ดูไม่ได้ไกลเกินความจริงเลย

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอบนรถไฟ อย่างเช่น คนเมาแล้วอาละวาด เมื่อพนักงานรักษารถเจอ ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เชิญตัวลงจากรถไฟเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการเดินทางรถไฟ ที่ไม่อนุญาตให้คนเมา หรือดื่มแอลกอฮอล์จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้โดยสารรถไฟเป็นอันขาด

ซึ่งคนที่จะยุติปัญหาแบบนี้ได้เร็วที่สุดก็คือ ตำรวจรถไฟ

คำถามต่อมาคือ เมื่อในอีก 1 ปี ไม่มีตำรวจรถไฟ หากมีการประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจท้องที่ จะสามารถส่งกำลังพลมาช่วยเหลือได้หรือไม่ เพราะอย่างที่รู้กันว่ากำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบันนั้น ก็ไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชนอยู่แล้ว รวมถึงคดีหรือเรื่องราวต่างๆ ที่ประชาชนในท้องที่มาร้องทุกข์ในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา

แล้วจะเอาตำรวจที่ไหนมาช่วยเหลือประชาชนบนรถไฟ ?

และปัญหาใหญ่อีกปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุดคือ “การลักลอบขนยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย” ที่ตรงกับความคิดเห็นจากอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือพนักงานรถไฟว่า

ทุกวันนี้ลองสุ่มตรวจก็ยังเจออยู่บ่อยๆ ถ้าไม่มีแล้ว คงไม่ต้องคิดว่าจะขนกันมากขึ้นขนาดไหน

ในอนาคตที่ไม่มีตำรวจรถไฟแล้ว จึงทำได้แค่เตือนประชาชนว่า ขอให้ระมัดระวังการเดินทางให้ดี เก็บของมีค่าไว้กับตัว หรือไม่พกพาไปด้วยเลยจะดีที่สุด พร้อมกับย้ำว่าหากเกิดเหตุก็ขอให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานบนรถไฟเพื่อแก้ไขปัญหาให้ไวที่สุด ตำรวจรถไฟได้ฝากไว้

หลากหลายมุมมองแต่คำตอบเดียวกัน “ไม่อยากให้ยุบ”

ไม่ได้หมายความว่ามีแต่คนรักตำรวจรถไฟมากมายขนาดนั้น แต่ทุกคนต่างกังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกันทุกคน ในอีก 1 ปีข้างหน้า การเดินทางที่ใช้เวลานานโดยปราศจากตำรวจรถไฟ ก็คงเหมือนชีวิตที่ต้องอยู่ในแดนมิคสัญญี ที่ๆ มีกฎหมาย แต่ไร้ซึ่งผู้บังคับใช้

ใครที่ไหนจะเกรงกลัว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง