ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิพาทแนวเขต "เมืองโบราณศรีเทพ" ส่อบานปลาย-ไร้ความคืบหน้า

สังคม
16 พ.ย. 65
12:35
1,929
Logo Thai PBS
พิพาทแนวเขต "เมืองโบราณศรีเทพ" ส่อบานปลาย-ไร้ความคืบหน้า
1 ปีผ่านไป ชาวบ้าน ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ยังอยู่กับความเสี่ยงสูญเสียที่ดิน หลังไม่มีความชัดเจนจากกรมศิลปากร กรณีปัญหาแนวเขตทับซ้อนกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ด้านอธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่กล่าว “ขอโทษ” พร้อมให้ความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย

เตรียมหาที่ปรึกษากฎหมาย หลังหารือรัฐ 1 ปีไม่คืบ

น.ส.กัญจน์ณัฏฐ์ ภารฤทธิ์ กำนันตำบลศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า ชุมชนกำลังหาทนายเอกชนเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านด้านกฎหมาย หลังปัญหาแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างชุมชนกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเรื้อรังมากกว่า 1 ปี และไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้น

ที่มาของปัญหา เกิดจากกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนผังเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานในปี 2506 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ซึ่งปรากฏแนวเขตขึ้นทะเบียนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมแนวเขตเมืองโบราณทั้งหมด แต่ไม่มีการระบุพิกัดแนวเขตชัดเจน ดังภาพ

ภาพผังเมืองโบราณศรีเทพเป็นโบราณสถาน หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม  80 ตอนที่ 29 ปี พ.ศ. 2506

ภาพผังเมืองโบราณศรีเทพเป็นโบราณสถาน หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ปี พ.ศ. 2506

ภาพผังเมืองโบราณศรีเทพเป็นโบราณสถาน หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ปี พ.ศ. 2506

แต่เมื่อนำแนวเขตนี้มาปรับกับพิกัดแผนที่ดาวเทียมในปัจจุบัน พบว่า ผังแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านหลายหมู่บ้านของ ต.ศรีเทพ และทางพื้นที่เพิ่งทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564

หลังจากชาวบ้านบางคนไม่สามารถเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนดที่ดินได้ โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรี ว่า กรมศิลปากรคัดค้านการออกโฉนด เนื่องจากที่ดินอยู่ในเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพ

อย่างไรก็ตาม นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรคนใด เป็นผู้คัดค้านการออกโฉนดของชาวบ้าน

จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีชาวบ้านคนใด สามารถทำรังวัดและเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนดได้เลย เนื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ฯ ยืนยันว่า ให้ไปตกลงแนวเขตกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ให้เรียบร้อยก่อน

ไร้เงากรมศิลปากรรังวัดแนวเขตที่ดินให้ชัด แม้มีมติร่วมกัน

วันที่ 7 ธ.ค.2564 มีการประชุมร่วมกันระหว่าง นายสหชัย แจ่มประสิทธิ์กุล นายอำเภอศรีเทพ ในขณะนั้น นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรี และตัวแทนชาวบ้าน

หนึ่งในประเด็นการประชุม คือ กรณีการทับซ้อนกัน ระหว่างแนวเขตที่ดินของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตามประกาศในราชกิจจาบุเบกษาปี 2506 และที่ดินของชาวบ้าน

มติที่ประชุมระบุชัดเจนว่า เห็นควรเสนอให้กรมศิลปากร สำรวจรังวัดเพื่อจัดทำแนวเขตที่ดินเมืองโบราณศรีเทพขึ้นใหม่ ภายใต้การมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น ถึงแม้ทางชุมชนทำหนังสือทวงถามผ่านอำเภอศรีเทพไปเป็นระยะ

กำนันตำบลศรีเทพให้ข้อมูลว่า หลังการประชุมครั้งนั้น มีเพียงกรมธนารักษ์ที่เข้ามาสำรวจรังวัดแนวที่ดิน และพบว่ามีชาวบ้านจำนวน 5 ครัวเรือน ที่มีแนวเขตทับซ้อนกับแนวคูน้ำคันดินของกรมธนารักษ์ ขณะที่ชาวบ้านเหล่านั้นต่างอ้างว่า ตนเองมีโฉนดที่ดินถูกต้อง ล่าสุด เรื่องนี้จึงเข้าสู่กระบวนการคัดค้านตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

เราจึงอยากได้ความชัดเจนจากกรมศิลปากร เหมือนกับที่กรมธนารักษ์ทำ เราขอแค่ความชัดเจนเท่านั้น ถ้ากรมศิลปากรจะใช้ประกาศแนวเขตตามปี 2506 ก็ยืนยันมาให้ชัดว่าจุดไหนถึงจุดไหน ชาวบ้านจะได้วางแผนรับมือกับผลกระทบได้

กว่า 200 คน เสี่ยงไร้ที่ดิน 25 คน ไร้ที่ทำกินไปแล้ว

ภาพแนวที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกับที่ดินของชาวบ้าน

ภาพแนวที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกับที่ดินของชาวบ้าน

ภาพแนวที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกับที่ดินของชาวบ้าน

เมื่อนำแนวเขตเมืองโบราณศรีเทพ ปี 2506 โดยสังเขป มากำหนดพิกัดคร่าวๆ บนแผนที่ กำนันตำบลศรีเทพให้ข้อมูลว่า มีประชาชน 85 ครัวเรือน กับอีก 203 คน ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของแนวเขต และตกเป็นผู้มีความเสี่ยงจะสูญเสียที่ดินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเมืองโบราณศรีเทพได้เป็นมรดกโลกตามที่ไทยเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

ในจำนวนนี้ แจกแจงได้เป็นประชาชนจำนวน 35 ครัวเรือน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และถือครองเพียงใบ ภทบ.5 ประชาชนจำนวน 50 ครัวเรือน ที่ถือครอง น.ส.3 ก. และโฉนดที่ดิน

ประชาชนจำนวน 29 คน ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวนรวมกันกว่า 220 ไร่ และประชาชนจำนวน 174 คน ที่มีที่อยู่อาศัยในเขตทับซ้อน พื้นที่รวมกันกว่า 80 ไร่

ความหวังของหมู่บ้าน คือ ขอความชัดเจนเรื่องแนวเขตที่ดิน ก่อนที่คุณจะดำเนินการเรื่องอื่น เราไม่ได้ขัดขวางเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ สิ่งที่เรียกร้องในขณะนี้ คือ อยากให้ท่าน (กรมศิลปากร) ออกมารังวัดสำรวจแนวเขตที่ดิน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 เป็นต้นมา อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองนอกเพื่อปลูกพืชระยะสั้นอีกต่อไป เนื่องจากต้องการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

คำสั่งนี้ส่งผลให้ผู้ที่เคยใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองนอกจำนวน 41 คน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป ในจำนวนนี้มี 25 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกินทันที เพราะไม่มีที่ดินในพื้นที่อื่นอีก
ภาพ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาข้อร้องเรียนให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพทบทวนคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองนอก

ภาพ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาข้อร้องเรียนให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพทบทวนคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองนอก

ภาพ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาข้อร้องเรียนให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพทบทวนคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองนอก

ชาวบ้าน 25 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และปกติเข้าไปทำนาในเมืองนอก คนละ 5-10 ไร่ เพื่อนำข้าวมาบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นวิธีแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง เมื่อกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกินจึงส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักในปัจจุบัน

กำนันตำบลศรีเทพ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอศรีเทพ และอุทยานฯ มีโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้น โดยเปิดรับสมัครให้ชาวบ้านกลุ่มนี้เข้าไปเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ ในจำนวน 2-3 อัตรา แต่ภายหลังพบว่า เป็นงานที่ไม่เหมาะสมกับทักษะของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คนขับรถ เป็นต้น

คุณยาย อายุ 60-70 ปี ยากที่จะให้เขามาเริ่มต้นอาชีพใหม่ ถึงแม้มีจัดอบรมส่งเสริมอาชีพ แต่ก็ต้องการแผนทางการตลาดมารองรับด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลา ความที่เขาเคยอยู่กับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมมาก่อน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้มาเป็นเวลานาน อยู่ๆ จะให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนอาชีพ มันเลยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

แผนบริหารพื้นที่มรดกโลก ซ้ำเติมปัญหาที่ดินในศรีเทพ

กุมภาพันธ์ ปี 2564 รัฐบาลไทยเสนอให้เมืองโบราณศรีเทพ เขาคลังนอก และ เขาถมอรัตน์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

ในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก กำหนดพื้นที่ Core Zone ตามแนวเขตเมืองโบราณศรีเทพที่ประกาศใช้ในปี 2506 ซึ่งเป็นแนวเขตเดียวกันกับที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนในปัจจุบัน

พื้นที่ Core Zone คือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น ห้ามก่อสร้างอาคารชั่วคราว และถาวร ห้ามทำเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และห้ามถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด ห้ามปรับพื้นที่และเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ

การกำหนดพื้นที่ Core Zone เช่นนี้ ส่งผลผูกพันต่อประเทศไทยว่า จะต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก มิเช่นนั้น ศรีเทพจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกถอดออกจากทะเบียนมรดกโลก เพราะไม่สามารถบริหารงานได้ตามแผนที่เสนอไว้

ล่าสุด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีแผนย้ายสำนักงานและบ้านพักเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ Core Zone หรือตัวอุทยานฯ เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ Core Zone ได้ หากศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

นางสิราวรรณ พันธ์ทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ตำบลศรีเทพ บอกว่า เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ยิ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังไม่ทราบความชัดเจนของแนวเขตที่ดิน เกิดความกังวลและเครียดมากขึ้น เพราะนอกจากที่ดินทับซ้อนกับแนวเขตอุทยานประวัติศรีเทพแล้ว ในอนาคตยังต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ด้วย เนื่องจากที่ดินทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ Core Zone

มีการพูดกันว่า หากเป็นมรดกโลกแล้ว ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับอุทยานฯ ได้ คำพูดมันดูดี แต่เราอยากได้ความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ที่มีผลทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันว่าชาวบ้านสามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้จริง เพราะไม่มีใครต้องการย้ายออกจากพื้นที่ไป คำถามคือ กรมศิลปากรสามารถปรับเปลี่ยนแนวเขตที่ประกาศใช้ในปี 2506 ได้ไหม

แม้ชาวบ้านเรียกหมุดที่ปักไว้ตามแนวถนนเลียบคูน้ำล้อมรอบอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ว่า “หมุดทิพย์” หรือ “หมุดเถื่อน” เพราะไม่ได้ปักตามแนวเขตที่ระบุไว้ตามประกาศในปี 2506

แต่นางสิราวรรณ บอกว่า ในความรู้สึกของพวกเขากลับยอมรับแนวเขตตามหมุดนี้มากกว่า เพราะเป็นแนวเขตที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ ตลอดมา จนกระทั่งเกิดปัญหาพิพาทแนวเขตที่ดินขึ้น ถึงทราบว่าแนวปักหมุดของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพไม่ถูกต้อง

ภาพหมุดแนวเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ภาพหมุดแนวเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ภาพหมุดแนวเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ก่อนหน้านี้ รายการเปิดปม ไทยพีบีเอส เคยนำเสนอ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ว่า การกำหนดพื้นที่ Core zone บริเวณเขาคลังนอกก็มีปัญหาเช่นกัน โดยในเอกสารที่ไทยส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก ได้ระบุว่า ขยายพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นจากขอบเขตเดิมซึ่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้เมื่อปี 2506 จากเดิมมีพื้นที่ 2.256 เฮกเตอร์ หรือ 14 ไร่ เป็น กว่า 10 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 63 ไร่ เนื่องจากพบเจดีย์ที่แสดงถึงมณฑลเพิ่มเติมมาด้านละ 3 องค์ รอบๆ เขาคลังนอก

ในเอกสารฉบับเดียวกันยังระบุว่าการขยายขอบเขตแนว Core Zone ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านผ่านการทำประชาพิจารณ์และเข้าสู่ขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน อันเป็นไปตามแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ปี 2561-2565

นายสุรพล ขันหล่อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.ศรีเทพ ซึ่งเป็นชุมชนติดกับเขาคลังนอก เคยให้สัมภาษณ์กับรายการเปิดปมของไทยพีบีเอส ว่าไม่เคยมีชาวบ้านคนใดทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณรอบเขาคลังนอกมาก่อน และยังยืนยันว่าไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการขยายแนวเขตโบราณสถานในบริเวณรอบๆ เขาคลังนอกมาก่อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาจึงตั้งคำถามว่า เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลกระบุข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไร

ภายหลังการประกาศว่าไทยเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก พบว่า ที่ดินในตำบลศรีเทพได้รับความนิยมมากขึ้น มีคนนอกพื้นที่หลายรายเข้ามากว้านซื้อที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องบริเวณรอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ส่งผลให้ราคาซื้อขายที่ดินในพื้นที่ขยับสูงขึ้น จากเดิมไร่ละ 5 แสนบาท เป็น 7 แสนบาทขึ้นไป

สถานการณ์ซื้อขายที่ดินเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่สำหรับคนในพื้นที่ที่ยังไม่มีความมั่นคงในที่ดินจากปัญหาแนวเขตทับซ้อนและอยู่ในพื้นที่ Core Zone ตามแผนการบริหารพื้นที่อนุรักษ์เมืองโบราณศรีเทพ พวกเขารู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว

คนท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในบ้านตัวเองหรือไม่ เพราะถูกเวนคืนที่ดินทำกินไปอย่างสิ้นเชิง โดยได้เงินชดเชยแค่หยิบมือ ส่วนผู้ที่ถือครองใบ ภทบ.5 ย่อมไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตั้งแต่แรก

กำนันตำบลศรีเทพระบุว่า คำถามของคนในพื้นที่ขณะนี้ คือ ในอนาคตศรีเทพจะกลายเป็นพื้นที่ของนายทุนที่เข้ามาทำธุรกิจรีสอร์ทและโรงแรมเท่านั้นหรือไม่ โดยมีคนท้องถิ่นเป็นเพียงลูกจ้างที่ต้องนำเงินค่าจ้างไปจ่ายค่าบ้านเช่าอีกต่อหนึ่ง เนื่องจาก ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเสียแล้ว

นายทุนหรือผู้ที่มีกำลังที่สามารถซื้อที่ดินที่ถูกต้อง มีโฉนด มีนส. 3 ก. ถูกต้อง คนนอกจะสามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเรา แต่คนในพื้นที่จะไปอยู่ตรงไหน

รัฐบาลเดินหน้าเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก

ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 ยังมีข้อหารืออื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาพิพาทที่ดินศรีเทพ ทางชุมชนเสนอให้ชะลอการเสนอพื้นที่ศรีเทพเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ประเทศรัสเซีย

เนื่องจากยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของแนวเขตที่ดิน อันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยมติที่ประชุมระบุเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ดังเอกสารต่อไปนี้

ปัจจุบันไทยกลับไม่ชะลอการนำเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก ตามมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 รวมถึงไม่แก้ไข รายงานที่ส่งคณะกรรมการมรดกโลกไปแล้วเช่นกัน แม้จะทราบว่า ทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดิน ในตำบลศรีเทพในอนาคต

โดยที่ผ่านมาตัวแทนจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศสากล หรือ ICOMOS สากลได้เดินทางมาดูพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพเมื่อเดือนกันยายน 2565

ภาพ กลางเดือน ก.ย. 2565 วันที่ผู้แทน ICOMOS พบปะชาวบ้านศรีเทพ โดยมีชาวบ้านนั่งอยู่กับพื้น

ภาพ กลางเดือน ก.ย. 2565 วันที่ผู้แทน ICOMOS พบปะชาวบ้านศรีเทพ โดยมีชาวบ้านนั่งอยู่กับพื้น

ภาพ กลางเดือน ก.ย. 2565 วันที่ผู้แทน ICOMOS พบปะชาวบ้านศรีเทพ โดยมีชาวบ้านนั่งอยู่กับพื้น

นายพนมบุตร จันทรโชติ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ให้ข้อมูลว่า วันที่ 26 พ.ย.2565 จะมีการหารือระหว่างสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศของไทย หรือ ICOMOS ไทย กับ ICOMOS สากล

เพื่อพิจารณาว่า รายงานที่เตรียมนำเสนอต้องปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมเนื้อหาใดๆ หรือไม่

จากนั้นจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของ ICOMOS สากลในเดือนธันวาคมนี้ โดยไทยต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม ตามที่ ICOMOS ร้องขอ ภายในกุมภาพันธ์ 2566 และเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2566

มีความเป็นไปได้ว่า หนึ่ง (ศรีเทพ) อาจได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน หรือ สอง อาจไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนก็ได้ หรือ สาม ให้ (ไทย) ส่งหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม มันก็ยังเป็นเรื่องที่ยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นข่าวดี

“ขอโทษ” และ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อธิบดีกรมศิลปากร มีความเห็นต่อกรณีปัญหาแนวที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านว่า อาจเกิดจากปัญหาการสื่อสารระหว่างกรมฯ กับชาวบ้านที่ไม่ชัดเจนและไม่มากพอ ต่อไปจะสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ผมย้อนกลับวันเวลาไปแก้ไขเรื่องเดิมไม่ได้ แต่ ณ วันนี้พอรับทราบปัญหา และเมื่อมานั่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรเต็มตัว ผมพูดได้ว่า เรื่องเมืองโบราณศรีเทพจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่หยิบมาทำ ปลายอุโมงค์อยู่ทางไหนไม่รู้ แต่ว่าต้นทางหรือหมุดหมายมีอยู่แล้ว คือไม่เวนคืน

ถ้าตกลงกันได้ก็จะตั้งงบขึ้นมาชดเชยค่าที่ดินให้ ต้องขอโทษที่มันนาน แต่เรื่องนี้จะพิจารณาให้เร็วก็ไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าจะให้มันยุติอย่างเป็นธรรม

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยหลักการแล้ว หน้าที่ของกรมศิลปากรคือ ดูแลให้ชุมชนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและมีความสุข นี่เป็นหลักการสำคัญสูงสุด ไม่มีประโยชน์หากประกาศเป็นมรดกโลกแล้วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีการเวนคืนที่ดินอย่างแน่นอน

แต่ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็จะกันพื้นที่ในส่วนที่จำเป็นต้องกันพื้นที่ไว้จริงๆ หากแม้ว่ามันทับซ้อนกับพื้นที่ชาวบ้าน ทางออกของเราก็คือ “เงินชดเชย” หรือตั้งงบประมาณมาชดเชยให้กับชาวบ้าน

ขณะนี้ ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว แต่ คงไม่ใช่เรื่องที่ทำเสร็จได้ภายใน 1-2 วัน เพราะการชดเชยค่าที่ดินต้องผ่านขั้นตอนการประเมินค่าชดเชยจากทางราชการ ซึ่งไม่ใช่ราคาประเมินตามการซื้อขายในปัจจุบัน โดยทางอุทยานประวัติศรีเทพมีแผนตั้งบประมาณสำหรับค่าชดเชยในปีงบประมาณ 2567

การชดเชยต้องเป็นธรรม ยุติธรรม ยุติด้วยความเป็นธรรม ระหว่างผู้ถือครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินกับราชการ แน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ต่อให้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพราะเราชอบที่จะอยู่แบบเดิมๆ ทำมาหากินในพื้นที่เดิม

ผมอยากจะบอกว่าการได้เป็นมรดกโลก มันจะช่วยทั้งศักดิ์และศรีของประเทศไทย และช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ดูตัวอย่างได้จากสุโขทัยและพระนครศรีอยุธยา

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง