ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ธนา" โพสต์ชี้ กฎ Must Have ทำค่าลิขสิทธิ์พุ่ง - เอกชนโอกาสขาดทุนสูง

กีฬา
10 พ.ย. 65
08:21
479
Logo Thai PBS
"ธนา" โพสต์ชี้ กฎ Must Have ทำค่าลิขสิทธิ์พุ่ง - เอกชนโอกาสขาดทุนสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อดีตผู้บริหาร" เจ้าของลิขสิทธิ์มหกรรมฟุตบอลยูโร โพสต์ผลกระทบจากกฎ Must Have ทำค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมหกรรมฟุตบอลแพง เอกชนไม่กล้าประมูลเหตุโอกาสขาดทุนสูง

วันนี้ (9 พ.ย.2565) นายธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหาร จีเอ็มเอ็ม แซท (GMMZ) เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "เขียนไว้ให้เธอ" ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เขียนไว้ถึงสาเหตุของการเพิ่มกฎ Must Have ที่เป็นสาเหตุของการทำให้เอกชนไม่อยากลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้  โดยมีเนื้อหาดังนี้  

บอลโลก 2022 ที่กาตาร์กำลังถึงกำหนดจะฟาดแข้งอาทิตย์หน้าแล้ว ไทยยังเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มีใครไปซื้อลิขสิทธิ์ มีแนวโน้มว่าเราอาจจะอดดูหรือต้องไปมุดดูตามลิงก์ต่าง ๆ เอามีสูงมาก

ถึงตอนนี้กระแสบอลโลกยังไม่แรงเลย โปรโมชันขายทีวีที่เคยคึกคักก็ดูหงอย เพราะจนป่านนี้ยังไม่มีเจ้าภาพ เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่มาบิ๊วมาโปรโมท เวลาถ่ายทอดสดที่กาตาร์เป็นเวลาที่ดีมากสำหรับห้างร้าน ผับ บาร์ แต่พอไม่มีเจ้าภาพ ทุกอย่างก็ดูเงียบสงัดไปหมด ร้านอาหารอยากทำแคมเปญก็ไม่รู้จะไปติดต่อใคร

ว่ากันว่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ไทยจะต้องซื้ออาจจะสูงถึง 1,600 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายของเอกชน โอกาสขาดทุนน่าจะสูงลิบ เลยยังไม่มีใครกล้าลงทุนในสภาวะแบบนี้ จนรัฐต้องอาจจะควักออกเองแต่ก็เป็นดรามาอยู่ดีถึงความเหมาะสมถึงกองทุนหรือ งบประมาณรัฐ

ล่าสุด กสทช.เพิ่งมีข่าวว่าจะช่วยควักแค่ 600 ล้านบาท คำถามตามมาว่า ถ้าราคามันเกือบ 2,000 ล้านบาท แล้วที่เหลือใครจะควัก ดูอลหม่านปนวังเวงอย่างบอกไม่ถูก ถามว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เราติดกับดักตัวเองจนถึงกับไม่มีใครถ่ายบอลโลกนี่เกิดจากอะไร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ผมเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในการเกิดเหตุการณ์จอดำของการถ่ายทอดสดบอลยูโรในปีนั้น เนื่องจากผมได้เข้าไปรับตำแหน่งเป็นหัวหอกในการสร้างกล่องสัญญาณดาวเทียม GMMZ ของแกรมมี่ ซึ่งในตอนนั้นแผนการใหญ่ของเจ้านายผมก็คือการทุ่มซื้อลิขสิทธิ์บอลยูโรมาเป็นแม่เหล็กในการขายกล่องดาวเทียม วิธีการคิดก็คงคล้ายกับ Netflix HBO อะไรสมัยนี้ ก็คือ Only at GMM Z มีคอนเทนต์แม่เหล็กที่ดึงคนมาซื้อกล่องและจ่ายรายเดือน เล่าในสมัยนี้ก็ดูไม่เห็นจะแปลกอะไร

แต่ในตอนนั้นความถูกต้องไม่อาจสู้ความถูกใจได้ คนเคยดูบอลฟรีจนชิน พอแกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์มาและจะใช้เพื่อโฆษณากล่องว่า ดูบอลยูโรได้เฉพาะที่เรา Only at GMM Z พอประกาศก็โดนถล่มอย่างหนักจากทุกสารทิศ

ทั้งความไม่พอใจของคนเคยดูบอลฟรีมาตลอด ตอนหลัง ๆ ดูฟรีทีวีผ่านดาวเทียมหรือ เคเบิ้ล อยู่ดี ๆ จะต้องซื้อกล่องก็ไม่พอใจ ทั้งคู่แข่งที่เสียประโยชน์โดยเฉพาะดาวเทียมและเคเบิลก็ใช้ทุกวิถีทาง

ทั้งกระแสกดดัน ผ่านคนอยากดูและผ่านกระบวนการรัฐในทุกด้าน เพื่อให้เปิดถ่ายทอดสดทุกช่องทางให้ได้ ตอนนั้นก็ต่อสู้กันทั้งด้านกฏหมาย

ด้านสว่างคือเดินสายไปแทบทุกช่องทีวี ด้านใต้โต๊ะก็ถูกชกใต้เข็มขัดผ่านนักการเมืองที่มีอำนาจในสมัยนั้น

จนกระทั่งเราต้องยอมเขียนจดหมายไปยูฟ่าแล้วทางโน้นเขาไม่ให้เปิด เรื่องยืดเยื้อจนรอบชิงชนะเลิศก็จบกันไป แต่เป็นเหตุการณ์ที่ผมโดนด่ามากที่สุดในชีวิต

บทเรียนส่วนตัวของเรื่องนี้ที่ผมจำจนวันนี้ก็คือ วันนึงตอนที่โดนถล่มหนัก ๆ ผมต้องออกไปชี้แจงเยอะมาก และก็มั่นใจในสิทธิ์สัญญาที่มี ก็ไปเถียง ยิ่งเถียงยิ่งโดน พี่เล็ก บุษบา ดาวเรืองแห่งแกรมมี่ นั่งฟังอยู่ด้วยก็เตือนสติผมว่า ในโลกนี้ มีถูกต้องกับถูกใจ บางทีความถูกต้องก็ไม่ถูกใจคน

ผมต้องลองมองมุมที่จะทำให้ถูกใจคนด้วย ก็เป็นซาโตริของผมในเรื่องนี้ที่จำจนวันนี้ เวลาออกไปชี้แจงก็จะคิดเรื่องว่าจะรักษาความถูกต้องและพูดให้พอถูกใจคนคู่กันไปด้วย ก็พยายามตีกรรเชียงจนเรื่องจบ

สุดท้าย แกรมมี่ ต่อสู้จนจบก็บาดเจ็บไม่น้อยทั้งชื่อเสียง และขาดทุนไปหลายสิบล้าน และก็เป็นปฐมเหตุให้ กสทช.ในตอนนั้น ไปออกกฎเอาใจมวลชนด้วยกฎ Must Have ในปีนั้น โดยมีหลักการว่า ถ้าใครได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่อยู่ในข่ายก็จะต้องเปิดให้ทุก Plattform ใช้ได้ ประชาชนทุกคนต้องได้ดู ห้ามปิดกั้นให้อยู่แต่เฉพาะแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งในกฎ กสทช.มีกีฬาอยู่ 7 ประเภท ซึ่งในที่สุด ก็ไม่ได้รวมฟุตบอลยูโรไป ด้วยแต่มีบอลโลกอยู่ในลิสต์นั้น

ที่น่าสังเกตก็คือ กีฬา 6 ประเภทแรกที่มีโอลิมปิก ซีเกมส์ รวมอยู่ด้วยนั้นมีนักกีฬาไทยไปแข่งด้วย แต่ฟุตบอลโลกนี่เรายังไม่มีความใกล้เคียงใด ๆ ในการมีส่วนร่วม

การเขียนเหมารวมฟุตบอลโลกที่ทั้งไม่มีนักกีฬาไทยไปแข่งและราคาแพงมาก ก็เลยทำให้จะใช้เงินกองทุนรัฐก็อิหลักอิเหลื่อ จะหาเอกชนมาลงทุนก็ทำได้ยาก เอาแค่ไม่มีกฏ Must Have ก็ยังดูแล้วยากมาก ๆ ที่จะมีใครลงทุนในยามเศรษฐกิจเป็นแบบนี้

คุณเบลล์ ขอบสนามเขียนใน FB ไว้โดยการคำนวณเล่น ๆ ไว้ว่า ถ้าใครซื้อลิขสิทธิ์มา 1,600 ล้านบาท ขายรายเดือนละ 399 บาท ยังต้องมีคนสมัครระดับ 5 ล้านคนถึงจะคุ้มทุน (ผมคิดว่าต้อง 6 ล้านคนด้วยซ้ำเพราะมีต้นทุนการออกอากาศ โฆษณา ฯลฯ Netflix นี่สมาชิกยังไม่ถึงล้านเลยนะครับ ของเถื่อนดูดไปดูฟรีกันก็เต็มไปหมด)

ยิ่งซื้อมาแล้วถูกบังคับให้ออกอากาศฟรีทีวีด้วยก็ยิ่งไม่มีทางคุ้มทุนได้เลย แถมต่างประเทศโดยส่วนใหญ่สปอนเซอร์ก็จะเป็นเหล้าเบียร์ แต่บ้านเราก็ห้ามกลุ่มนี้โฆษณาซ้ำไปอีก

คุณเบลล์เขียนใน FB ต่อด้วยว่า พฤติกรรมคนบ้านเราส่วนใหญ่ยึดติดกับคำว่าฟรีมาแต่ไหนแต่ไร เราอาจจะต้องเข้าใจว่ามันผ่านยุคฟุตบอลโลกที่ฟรีนั้นมาแล้ว ยุคนี้คือ อยากดูต้องจ่าย เหมือนกับที่เราจ่าย Netflix Amazon Youtube Premium กันในวันนี้

คุณเดียว วรตั้งตระกูล แห่งช่องวัน คำนวณเล่น ๆ ว่า ถ้าฟรีทีวีซื้อลิขสิทธิ์มา 1,600 ล้านบาท คือ คู่ละ 25 ล้านบาท ต้องขายโฆษณานาทีละ 1 ล้านบาทถึงจะเจ๊า

ในขณะที่ละครเรตติ้งดี ๆ ยังขายกัน 100,000 บาท - 200,000 บาท ไม่ว่าคิดมุมไหนก็ยาก แล้วยิ่งบวกกับกฎ Must Have ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผล นั่นจึงเป็นตะปูตอกฝาโลงภาคเอกชนอย่างสมบูรณ์

เงินภาครัฐก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมกันอย่างอื้ออึงเพราะไทยไม่ได้ไปแข่งบอลโลกกะเขาซักหน่อย ควรใช้เงินทางอื่นที่มีประโยชน์กับประเทศจะดีกว่าหรือไม่ และล่าสุดถึงแม้จะ กสทช.จะควักจำนวนหนึ่งแต่ก็ยังขาดอีกมาก

ไม่น่าเชื่อว่า ผลกระทบจากบอลยูโร 2012 เมื่อ 10 ก่อนจะถึงกับทำให้เราอาจจะอดดูบอลโลกในอีก 10 ปีต่อมาได้

แต่อย่างไรก็ตามในฐานะแฟนบอลตัวยง ก็ยังแอบลุ้นอยู่ลึก ๆ ว่า จะมีโอกาสได้ดูบอลโลกในอาทิตย์หน้า

แต่ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูอดดูไป ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแก้ไขกฏล้าสมัยที่ลองแล้วทำให้เราอดดูบอลและทำให้ค่าลิขสิทธิ์ขึ้นไปจนต่างชาติโขกสับเราได้ออกไปเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดบอลโลกในปี 2026 อีกนะครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง