รถยนต์จำนวนมากจอดรอเป็นแถวยาวเพื่อข้ามสะพานเคิร์ช ที่เชื่อมระหว่างไครเมียกับเมืองคราสโนดาร์ในรัสเซีย หลังจากรัสเซียเปิดให้รถเล็กสัญจรผ่านสะพานนี้เพียง 1 ช่องจราจร ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.2565) ขณะที่รถบรรทุก รถโดยสาร หรือรถขนาดใหญ่ จะต้องใช้บริการเรือข้ามฟาก ซึ่งจะจัดให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแทน
ผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วนเกรงว่าอาจจะต้องรอคิวข้ามสะพานนี้นานสูงสุดถึง 24 ชั่วโมง แต่ก็นับว่าเป็นการเปิดใช้สะพานที่ค่อนข้างรวดเร็ว หลังเกิดเหตุระเบิดบนสะพานเคิร์ชแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น

ย้อนเหตุการณ์สะพานเคิร์ชระเบิด
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.2565) เกิดไฟโหมลุกไหม้บนสะพานเคิร์ชในไครเมียอย่างหนัก ทำให้มีกลุ่มควันดำขนาดใหญ่ลอยขึ้นเหนือท้องฟ้า โดยคณะกรรมการสอบสวนรัสเซีย ระบุว่า จากข้อมูลเบื้องต้น ชี้ว่าเกิดเหตุรถบรรทุกคันหนึ่งระเบิดขึ้นขณะวิ่งอยู่บนสะพานดังกล่าว เหตุดังกล่าวส่งผลทำให้ถังน้ำมัน 7 ถัง ในขบวนรถไฟที่กำลังมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรไครเมีย เกิดการลุกไหม้และส่งผลให้สะพานส่วนหนึ่งพังถล่มลงมา ทางการรัสเซียระบุว่าจะเดินหน้าซ่อมแซมความเสียหายทันที
รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย สั่งการให้รื้อถอนสะพานส่วนที่เสียหาย และส่งนักประดาน้ำตรวจสอบความเสียหายใต้น้ำใต้จุดเกิดเหตุ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทยอยเปิดให้รถสัญจรผ่านสะพานแห่งนี้อีกครั้งตั้งแต่คืนวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์สำคัญรัสเซีย-ไครเมีย
สะพานเคิร์ชเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป โดยมีความยาว 19 กิโลเมตร เชื่อม 2 ฝั่งของช่องแคบเคิร์ช ระหว่างคาบสมุทรไครเมีย กับเมืองคราสโนดาร์ของรัสเซีย ที่ห่างจากกรุงมอสโกราว 1,300 กิโลเมตร
สะพานนี้มีความสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์ต่อรัสเซีย โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามขณะนี้ที่รัสเซียเริ่มจะเพลี่ยงพล้ำและถูกยูเครนไล่ยึดพื้นที่คืนจากการครอบครองของกองทัพรัสเซียได้อย่างต่อเนื่อง

ในเชิงยุทธศาสตร์ สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงและสิ่งของจำเป็นสำหรับสนับสนุนปฏิบัติการของกองทัพรัสเซีย ทั้งยุทโธปกรณ์ เครื่องกระสุน หรือแม้แต่ทหาร
แต่อีกด้านหนึ่ง นี่เป็นสัญลักษณ์ของการผนวกดินแดนไครเมียของรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.2557
ในปี 2561 รัสเซียเปิดใช้สะพานเคิร์ช ซึ่งมีทั้งถนนและรางรถไฟ และใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 228,000 ล้านรูเบิล หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 137,000 ล้านบาท โดยผู้นำรัสเซียเดินทางไปเปิดสะพานด้วยตัวเอง ในวันที่ 15 พ.ค.2561 ในชุดเสื้อเชิร์ต กางเกงยีนส์ และขับรถบรรทุกข้ามสะพานเป็นการเปิดพิธี

ในช่วงเวลานั้น สื่อรัสเซียยกย่องสะพานแห่งนี้ว่า เป็นสิ่งก่อสร้างแห่งศตวรรษ และก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่รัสเซียมักจะย้ำอยู่เสมอว่า สะพานเคิร์ชจะปลอดภัยจากการโจมตีใดๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากดินแดนที่อยู่ในการควบคุมของยูเครนเกิน 160 กิโลเมตร หรือพูดง่ายๆ คือเหมือนปลอดภัยอยู่ในอ้อมอกของรัสเซียนั่นเอง
รัสเซียยืนยัน ยูเครนอยู่เบื้องหลัง
ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงแสดงความมั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการก่อการร้ายซึ่งมุ่งเป้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนของรัสเซีย ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังและลงมือคือหน่วยรบพิเศษของยูเครน นี่เป็นการออกมาแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของผู้นำรัสเซีย
ประธานคณะกรรมการสอบสวนของรัสเซีย ระบุว่าได้เปิดการสอบสวนเหตุก่อการร้ายครั้งนี้แล้ว โดยเหตุการณ์นี้เกิดจากการระเบิดรถบรรทุก ซึ่งทำให้ตู้รถไฟ 7 ตู้เกิดไฟลุกท่วม และเจ้าหน้าที่สามารถระบุเส้นทางการเคลื่อนที่ของรถบรรทุกที่ใช้ก่อเหตุได้แล้ว โดยพบว่ารถบรรทุกคันนี้ผ่าน บัลแกเรีย, จอร์เจีย, อาร์เมเนีย, สาธารณรัฐนอร์ทออสซีเชีย-อาลาเนีย และเมืองคราสโนดาร์ที่อยู่ทางตอนใต้ของรัสเซีย
ขณะที่ยูเครนไม่ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้โดยตรง แม้ว่าในอดีตจะเคยมีการพูดว่าสะพานที่สำคัญแห่งนี้เป็นเป้าหมายที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง และยูเครนปฏิญาณว่าจะยึดดินแดนไครเมียคืนจากรัสเซียมาโดยตลอด
ระเบิดจากใต้สะพาน ไม่ใช่โจมตีทางอากาศ
ด้านนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นสะเก็ดหรือชิ้นส่วนบนถนนในที่เกิดเหตุ จึงไม่น่าใช่อาวุธที่โจมตีจากทางอากาศ แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคืออาจเป็นการโจมตีจากด้านล่าง ส่วนใต้สะพาน โดยใช้วัตถุระเบิด
ขณะที่สถาบันศึกษาสงคราม มองว่า ความเสียหายของสะพานนี้จะกระทบต่อการขนส่งของรัสเซียไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่จะไม่กระทบการส่งเสบียงหนุนกองทัพรัสเซียในยูเครนมากนัก