รายงานพิเศษ : รู้หรือไม่ “พลเรือนไทย” มีปืนมากที่สุดในอาเซียน

อาชญากรรม
7 ต.ค. 65
10:25
9,081
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : รู้หรือไม่ “พลเรือนไทย” มีปืนมากที่สุดในอาเซียน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่ “พลเมืองไทย” มีปืนไว้ในครอบครองมากที่สุดในอาเซียน ปืนนั้นมาจากไหน เรามีปืนเอาไว้ทำไม

เหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายราย

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ทั้งที่เป็นข้าราชการ หรือ อดีตข้าราชการ หรือ ชาวบ้านทั่วไป ส่วนมูลเหตุการจูงใจในการก่อเหตุก็เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ก่อเหตุคดีดังกล่าว

เป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการ มีการครอบครองอาวุธปืนได้อย่างไร ยกเว้นแต่จะเป็นอาวุธปืนส่วนตัวของผู้ก่อเหตุเอง

หากย้อนดูข้อมูลการครอบครองอาวุธปืนทั่วโลกพบว่า มีไม่น้อยเลยทีเดียว แม้แต่ประเทศไทยเอง มีการครอบครองปืนมากที่สุดในอาเซียน รวมถึงการเกิดคดีที่เกี่ยวกับอาวุธปืนทั้งปืนที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียนสถิติย้อนหลัง 4 ปี มีมากกว่า 1 แสนคดีเลยทีเดียว

พลเรือนไทยครอบครองปืนมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

ข้อมูลจากองค์กร Small Arms Survey จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนของพลเรือน พบว่าปี 2560 ทั่วโลกมีอาวุธปืนกว่าแปดร้อยล้านกระบอก โดยสหรัฐอเมริกามีพลเมืองครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 393 ล้านกระบอก

หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน อาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนมีถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในอาเซียน

แยกเป็นอาวุธปืนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจำนวน 6,221,180 กระบอก ส่วนที่เหลือก็อีกกว่า 4 ล้านกระบอก เป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเทียบกันง่ายๆ คือถ้าคน 100 คน จะพบว่ามีอาวุธปืนอยู่ในการครอบครอง 15 คน

การอนุมัติให้นำเข้าอาวุธปืนนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน จากข้อมูลอาวุธปืนที่อนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศ ในปี 2560 รวม 6,221,180 กระบอก มี 2 ประเภท คือ
-อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก
-อาวุธปืนยาว 2,476,303 กระบอก

ว่าด้วยเรื่องของปืนขึ้นทะเบียน

การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองได้นั้น ผู้ครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการโดยการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ว่าการอำเภอก่อน มิเช่นนั้นแล้วเป็นผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 72 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีและปรับ 2,000 - 20,000 บาท

การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จะต้องมีใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนส่วนบุคคล ให้มีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนสำหรับการค้า หรือ ใบ ป.3 หรือเป็นใบอนุญาตเพื่อซื้ออาวุธปืน

การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน หรือ ใบ ป.4 ซึ่งใบอนุญาต ป.4 คือ ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนชั่วคราว

ส่วนการพกพาอาวุธปืนติดตัวเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาต ป.12 ก่อน คือ ขออนุญาตนำอาวุธติดตัว โดย คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีบุคคลมีอาวุธปืนติดตัว ตามหลักเกณฑ์ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนด

อาวุธปืนสวัสดิการกรมการปกครอง

โครงการจัดหาอาวุธปืนให้แก่ข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการไว้ใช้ปฏิบัติงานและเพื่อป้องกันชีวิต ทรัพย์สิน

ปืนที่ขึ้นทะเบียน หรือปืนในระบบจะมีราคาที่สูงมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อตามโควตาสวัสดิการปืนข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการกรมการปกครอง และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า มีราคาถูกกว่าในตลาดก็ตาม แต่สนนราคาปืนโควตาสวัสดิการฯ ก็ยังตกอยู่ที่กระบอกละ 40,000-50,000 บาทขึ้นไป

หากเทียบกับเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่ได้ในแต่ละเดือน ก็อาจจะต้องเก็บเงินกันสักพักหนึ่ง กว่าจะมีปืนไว้ในครอบครองเพื่อปฏิบัติภารกิจได้ “ตำรวจบางคน ก็ต้องผ่อนค่าปืนด้วยซ้ำ” แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ส่วนประชาชนที่ต้องการจะมีปืนที่ถูกกฎหมายเป็นของตัวเอง ก็จะต้องหาซื้อตามร้านขายปืนที่ถูกกฎหมายเช่นกัน ราคาก็จะสูงกว่าปืนสวัสดิการ เริ่มต้นก็ที่ 80,000-90,000 บาท ว่ากันไปตามรุ่น ยี่ห้อ และสมรรถนะของปืนตามที่ต้องการ

เหตุผลที่ต้องนำเรื่อง “ราคา” มาเป็นที่ตั้ง เพราะ “ราคาที่สูง” จะทำให้การเข้าถึงปืนยากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปก่ออาชญากรรม

เมื่อถามว่าทำไมข้าราชการจึงต้องซื้อปืนเป็นของตนเอง เนื่องจากปืนหลวงหรือปืนที่รัฐบาลมีให้ใช้ มีสภาพเก่า และมีจำนวนปืนไม่เพียงพอ ตามจำนวนข้าราชการ และที่สำคัญหากนำปืนหลวงไปใช้แล้วเกิดชำรุดหรือสูญหาย ข้าราชการคนนั้นจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต้องชดใช้เงินเท่าราคาเต็มของอาวุธปืน

หากย้อนมองอาวุธปืนสวัสดิการทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกเพื่อให้ข้าราชการได้ครอบครองอาวุธปืน เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

ในด้านลบ การที่ข้าราชการเข้าถึงการซื้ออาวุธปืนที่ง่าย และราคาถูก ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐครอบครองเกินกว่าความเหมาะสม และความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถซื้ออาวุธปืนคนละหลายกระบอก

รวมถึงการครอบครองอาวุธปืน ส่วนหนึ่งเพื่อเก็งกำไรในอนาคต (เพราะทุกคนมีสิทธิในการซื้อ จึงซื้อตามสิทธิ) เพราะราคาปืนในโครงการสวัสดิการฯ นั้น ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า มีราคาถูกกว่าในตลาด ซึ่งสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ภายใน 5 ปี

หรือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเองโดยการนำอาวุธปืนไปจำนำ ทั้งนี้หากอาวุธปืน หลุดจำนำ คาดว่า บางส่วนอาจถูกปล่อยขายเป็นปืนเถื่อน มีเส้นทาง 2 เส้นทาง ได้แก่

1.หากปล่อยขายในประเทศ เลขทะเบียนปืน ต้องขูดลบหรือทำลายทิ้ง
2.หากปล่อยขายในประเทศเพื่อนบ้าน อาจคงทะเบียนปืนนั้นไว้ เพื่อมิให้มีตำหนิจากการขูดลบ ทำให้เสียราคา แสดงราคาเป็นปืนมีประวัติ เป็นต้น

มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองเพื่อ?

ประเภทของใบอนุญาต โดยปัจจุบันห้ามมิให้ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า อาวุธปืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นคือ

- บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน
- เพื่อใช้ในการกีฬา
- เพื่อใช้สำหรับยิงสัตว์

อีกกรณีหนึ่งคือมีอาวุธปืนไว้เพื่อการเก็บ หรือ สะสม ต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วยเช่นกัน ซึ่งการเก็บ หมายถึงการมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น

ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ จะออกให้แก่อาวุธปืน ดังต่อไปนี้
- อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่าชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้
- อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ, ปืนที่เป็นของเก่าแก่
- อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ

นอกจากนี้แล้วกฎหมายมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บ คือ ห้ามไม่ให้ยิงอาวุธปืนนั้น และห้ามไม่ให้มีเครื่องกระสุนปืนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ

“ปืนเถื่อน” ทางเลือกของคนงบฯ น้อย

ปืนเถื่อนในที่นี้ ไม่ใช่ปืนไทยประดิษฐ์อย่างเดียว แต่หมายรวมถึง ปืนทุกชนิดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือปืนที่ถูกลบเลขทะเบียนที่ตัวปืนออกไป

ส่วนปืนไทยประดิษฐ์ เกิดขึ้นมานานแล้วในชนบท ที่ชาวบ้านผลิตขึ้นใช้เองเพื่อล่าสัตว์ และเพื่อป้องกันทรัพย์สินในพื้นที่ทุรกันดาร

หากนำไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอ ในต่างจังหวัด หรือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก็กลายเป็นปืนที่ถูกกฎหมายได้เช่นกัน

ด้วยความที่มีราคาไม่แพงมากนัก หาซื้อง่าย สั่งทางออนไลน์ก็ได้ เมื่อสั่งซื้อและชำระเงินแล้วเพียง 2-3 วัน ก็ได้ของมาไว้ในมือ ไม่มีทะเบียน ไม่ต้องเสียเวลาไปยื่นเอกสารต่าง ๆ ในการขอมีปืนไว้ในครอบครอง ทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ดังนั้นปืนไม่มีทะเบียน ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนเท่านั้นที่มี และปืนที่มีทะเบียนไม่ได้หมายความว่า ข้าราชการเท่านั้นที่จะครอบครองได้

จากข้อมูลสถิติที่ได้จาก กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ช่วงปี 2559-2562 พบว่า คดีอาญาที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ รวมทั้ง 4 ปี จะมีคดีเกิดจากอาวุธปืนมีทะเบียน 25,034 คดี และเกิดจากอาวุธปืนไม่มีทะเบียนมากถึง 91,376 คดี

อาจจะดูย้อนแย้งในใจ เพราะจากข้อมูลข้างต้น จำนวนปืนที่ประชาชน ครอบครอง 10 ล้านกว่ากระบอก เป็นปืนมีทะเบียน 6 ล้าน และปืนไม่มีทะเบียน 4 ล้าน แต่ตัวเลขคดีที่เกิดจากปืนไม่มีทะเบียน มีมากกว่าคดีที่เกิดจากปืนมีทะเบียน มากกว่ากันถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว

ความจริงอันน่ากลัวอีกอย่าง ที่แสดงผ่านตัวเลขปืนกว่า 10 ล้านกระบอกในมือคนไทยคือการที่จำนวนปืนในไทยมีจำนวนมากขนาดนี้ นั่นหมายถึง “ความรู้สึกถึงความปลอดภัย” ในชีวิตและทรัพย์สินของคนมีน้อยมาก คนจึงรู้สึกว่าการมีปืนไว้ในครอบครอง เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง เป็นเรื่องที่ควรทำหรืออุ่นใจในยุคนี้

แต่สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญคือ การออกกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืน ทั้งการห้ามพกพาทุกกรณี ยกเว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น รวมทั้งกฎหมายการเข้าถึงอาวุธปืนของการขึ้นทะเบียน

แต่การจะลดปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวกับอาวุธปืนจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้านควบคู่กันไป ทั้งการสร้างองค์ความรู้กฎหมายที่เป็นโทษเกี่ยวกับอาวุธปืนต้องเข้มงวด รวมถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ ด้วย

และรู้หรือไม่ "คนไทย" เป็นประเทศที่ 15 ของโลก ที่เสียชีวิตเพราะอาวุธปืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

วิเคราะห์ปูมหลังเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง