วันนี้ (16 ม.ค.2568) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงข้อเสนอทางเลือกภาครัฐ ลดค่าไฟจาก 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.68) เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยได้ คือทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้า กลุ่ม VSPP และ SPP ที่มีค่าแอดเดอร์หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า และ FIT มาคำนวนจะทำให้ลดภาระลงไป 17 สตางค์ต่อหน่วย
องค์ประกอบการเรียกเก็บค่าไฟงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาทต่อหน่วย จะมีค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าเอเอฟ 20 สตางค์, ค่ากิจการระบบจำหน่าย และค้าปลีก 51 สตางค์, กิจการระบบส่งและศูนย์ควบคุม 24 สตางค์, ค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้า 3.3 บาท, ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ 17 สตางค์ ซึ่งหากตัดลงจะลดภาระค่าไฟได้ทันที เหลือ 3.98 บาท
เบื้องต้น กกพ. อยู่ระหว่างร่างหนังสือเสนอแนวทาง ต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
อ่านข่าว : จับตา กกพ.แจงเเนวทางลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 3.70 บาท
แต่หากมาดูแนวคิดการลดค่าไฟฟ้าที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ลดลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย โดยจะรีดไขมันลงอีก 45 สตางค์ เบื้องต้นใช้ 4 แนวทาง ได้แก่
1. ไม่ต่อสัญญาซื้อขายไฟ ADDER ปี 2568 ที่จะหมดอายุของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
2. ขยายเวลาจ่ายคืนค่า FT ที่นำไปคืนหนี้ให้แก่ กฟผ.
3.ขยายเวลาชำระคืนค่าก๊าซฯ ให้แก่ ปตท. และ กฟผ.
และ 4. ขอให้ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้ง IPP และ SPP ลดอัตรากำไรลง
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ค่าไฟ 3.70 บาท สามารถทำได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อประสิทธิภาพ และการจ่ายไฟในอนาคต และยอดหนี้ที่ค้างจ่าย กฟผ. และ ปตท. ไม่ลดลง แต่หากจะทำให้ยั่งยืนทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนวทางปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟอย่างเป็นธรรม
โดยรัฐควรมีการบริหารจัดการต้นทุนจากการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า, การเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซ, การพิจารณาการลงทุนค่าผ่านท่อก๊าซในส่วนที่ไม่จำเป็น, การทบทวนสัญญาค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่จะต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และไม่ควรเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติม
หากย้อนดูข้อมูลตลอด 16 ปีที่ผ่านมา รัฐต้องเสียค่าความพร้อมจ่าย ไปมากกว่า 500,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์การใช้ไฟที่เยอะเกินจริง ซึ่งในปี 2567 ไทยมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 13 โรงไฟฟ้า และมี 7 โรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่อง ทำให้เฉพาะปี 2567 ปีเดียว รัฐเสียค่าความพร้อมจ่ายไปแล้ว 2,500 ล้านบาท ซึ่งหากปรับลดตรงนี้ได้ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 10 - 20 สตางค์
ขณะที่ นายดอน ทยาทาน นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ระบุว่า ควรมีการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟใหม่ทั้งระบบ และ ผู้ผลิตไฟฟ้าบางราย ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่บางรายกลับมีกำไร ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ จึงควรจะแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือควบคุมไม่ให้มีการทำสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีกำลังการผลิตเหลือเกินระบบ
อ่านข่าว : ชาวไร่มันยิ้ม “คอปโกจีน”สั่งซื้อ 9.8 แสนตัน “พาณิชย์”หวังราคาพุ่ง 2.50 บ/กก.
ใครได้รับบ้าง? ซอฟต์แวร์ใหม่ลบแอป Fineasy
เพิกถอนกรรมสิทธิ์ “ยืดเยื้อ” สนามกอล์ฟ “อัลไพน์” โยง “ชินวัตร”