ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตตึกถล่ม-จดหมายเวียน ท้าทาย ผู้ว่าฯ สตง.มณเฑียร เจริญผล

สังคม
3 เม.ย. 68
12:37
1,517
Logo Thai PBS
วิกฤตตึกถล่ม-จดหมายเวียน ท้าทาย ผู้ว่าฯ สตง.มณเฑียร เจริญผล
อ่านให้ฟัง
14:49อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. คนปัจจุบัน เปิดวิสัยทัศน์ใช้ AI ตรวจเงินแผ่นดิน สร้างคนเก่ง คนดี ด้วยประสบการณ์ลูกหม้อ แต่เผชิญวิกฤต "บ้านหลังใหม่" ถล่มจากแผ่นดินไหวเมียนมา 8.2 ล่าสุด จดหมายเวียนภายในจุดกระแสตีกลับ ท้าทายการฟื้นความเชื่อมั่นท่ามกลางวิกฤต

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2567 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายมณเฑียร เจริญผล เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อจากนายประจักษ์ บุญยัง ที่ครบวาระในเดือน ก.พ.2567 การเข้ามารับตำแหน่งของนายมณเฑียรเกิดขึ้นท่ามกลางความคาดหวังสูง ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการตรวจสอบเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สตง. ในการพิทักษ์งบประมาณของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายมณเฑียร แถลงเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่า ตลอดวาระ 6 ปี เขาจะมุ่งเน้นสร้างคนเก่งคนดี มีความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ยึดมั่นจิตสาธารณะ เพื่อเปลี่ยนผ่าน สตง. จากองค์กรตรวจสอบแบบดั้งเดิมสู่การเป็นหน่วยงานที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับทั้งจากหน่วยรับตรวจ สาธารณชน และชุมชนตรวจเงินแผ่นดินระดับสากล

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนี้เริ่มจากกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ซึ่งเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 จำนวน 7 คน มาสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ นายมณเฑียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ สตง. ได้รับคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 จาก คตง. ด้วยวิสัยทัศน์ที่เน้นการพัฒนาองค์กรใน 3 แกนหลัก

  1. สร้างคนเก่งคนดี ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในเชิงลึกและรอบรู้ในเชิงกว้างแบบสหสาขาวิชา รองรับการตรวจสอบเชิงบูรณาการและงานที่ซับซ้อนขึ้น พร้อมกำหนดกลยุทธ์ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใสและยุติธรรม ผ่านการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณให้ผู้ทำความดี

  2. เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นำเทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง มาใช้ในการตรวจสอบ โดยต่อยอดจากระบบ e-Audit (งานตรวจสอบดิจิทัล) และ e-Office (งานสนับสนุนดิจิทัล) ที่เขาเริ่มวางรากฐานไว้ในฐานะ Chief Information Officer (CIO) ของ สตง.

  3. เชื่อมโยงข้อมูล วางระบบเครือข่ายและลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมศุลกากร เพื่อให้การตรวจสอบครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายมณเฑียร เน้นย้ำถึงความสำคัญของ "เงินแผ่นดิน" โดยอ้างถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า "เงินแผ่นดินคือเงินของประชาชนทั้งชาติ" ซึ่งเป็นหลักการที่ สตง. และคนตรวจเงินแผ่นดินทุกคนยึดถือ เขามั่นใจว่า การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีจะสร้างอัตลักษณ์ของ สตง. ที่ยึดมั่นจิตสาธารณะ และยกระดับให้เป็นองค์กรที่มีแบรนด์แข็งแกร่งในสายตาสาธารณชน

"มณเฑียร" ลูกหม้อผู้มากประสบการณ์

นายมณเฑียร เจริญผล เป็น "ลูกหม้อ" ของ สตง.อย่างแท้จริง ด้วยประสบการณ์การทำงานในองค์กรนี้มากว่า 20 ปี เริ่มต้นจากตำแหน่งนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เรียนรู้กระบวนการตรวจสอบเงินแผ่นดินอย่างละเอียด ก่อนจะไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ 

  • หัวหน้ากองงานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของรัฐ 
  • ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 
  • ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 (ระดับ 10) 
  • รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 
  • CIO และ CDO ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลระดับสูงของ สตง. วางรากฐานระบบดิจิทัลให้องค์กร

นอกเหนือจากงานใน สตง. นายมณเฑียรยังมีประสบการณ์ในวงการราชการและการตรวจสอบที่กว้างขวาง เช่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (อนุ คตช.), ป.ป.ช., และ ปปง.

ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ในกระทรวงการคลัง, สำนักงานอัยการสูงสุด และรัฐสภา ด้านการเงินการคลัง เป็นกรรมการความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลัง และกรรมการพิจารณารางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศของกรมบัญชีกลาง

ด้านนิติบัญญัติและปฏิรูป เป็นกรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการวุฒิสภาที่ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561, อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้านการศึกษา เป็นกรรมการสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และกรรมการประจำหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า

นายมณเฑียรจบปริญญาตรีและโทด้านบริหารธุรกิจและนิติศาสตร์ รวมถึงรัฐประศาสนศาสตร์ และประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน เขายังผ่านหลักสูตรอบรมชั้นนำ เช่น หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ. รุ่น 58), หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการยุติธรรม (บยส. รุ่น 18), และหลักสูตรผู้บริหารการตรวจเงินแผ่นดิน (พตส. รุ่น 3) เกียรติประวัติที่โดดเด่นคือการได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของ สตง. ในปี 2544 และรางวัลจากสถาบันพระปกเกล้าและกรมบัญชีกลาง

ผลงานอันโดดเด่น

ในฐานะ CIO และรองผู้ว่าฯ สตง. นายมณเฑียรได้วางรากฐานสำคัญให้ สตง. ไว้อย่างมากมาย 

  • ระบบ e-Audit เปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบจากกระดาษสู่ดิจิทัล ช่วยลดระยะเวลาการทำงานและเพิ่มความแม่นยำในการตรวจจับความผิดปกติของงบประมาณ
  • ระบบ e-Office ปรับปรุงงานสนับสนุนภายในให้เป็นดิจิทัล ลดการใช้กระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
  • Web Application พัฒนาคู่มือและแอปพลิเคชันสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดงาน และการแข่งขันกีฬา เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปใช้ ลดช่องโหว่การทุจริตและเพิ่มความโปร่งใส
  • นำร่องฝึกอบรมบุคลากรทักษะดิจิทัล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data Analytics) และการใช้ AI ในการตรวจสอบ เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ
  • เชื่อมโยงข้อมูล ลงนาม MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภาษีและการเงินแบบเรียลไทม์ และกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อติดตามงบประมาณท้องถิ่น

วิกฤตบททดสอบ "ตึกถล่ม-จดหมายเวียน" 

เพียงไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง นายมณเฑียรต้องเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8.2 จากรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา ส่งผลให้อาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่บริเวณ ถ.กำแพงเพชร ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มลงมา

โครงการนี้เริ่มต้นในสมัยนายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าฯ สตง. โดยลงนามสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2563 กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10) มูลค่า 2,136 ล้านบาท และสัญญาควบคุมงานกับกิจการร่วมค้า PKW มูลค่า 74.653 ล้านบาท โครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 ธ.ค.2566 แต่ล่าช้ามาหลายครั้ง และคืบหน้าเพียงร้อยละ 30 ก่อนเกิดเหตุ

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีคนงานก่อสร้างกว่า 80 คนติดอยู่ใต้ซากอาคาร สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงจุดคำถามถึงคุณภาพการก่อสร้าง การออกแบบ และการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังตรวจสอบว่า มีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากแผ่นดินไหว เช่น การใช้เหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน หรือการออกแบบที่ไม่เหมาะสมหรือไม่

28 มี.ค.2568 นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าฯ และโฆษก สตง. ออกมาแถลงว่า การก่อสร้างมีความโปร่งใสทุกขั้นตอน และช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ 386 ล้านบาทจากราคากลาง 2,522.15 ล้านบาท ต่อมาในวันที่ 29 มี.ค. สตง. ออกแถลงการณ์ผ่านแฟนเพจอย่างเป็นทางการ แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหว และระบุว่าได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและตรวจสอบสาเหตุ แต่คำชี้แจงเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการคลายข้อสงสัยของสาธารณชนที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนกว่านี้

มุ่งเน้นความฝันองค์กรมากกว่าความเดือดร้อนผู้ประสบภัย ?

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดเมื่อมีจดหมายเวียนภายในของ สตง. ลงนามโดย "ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" ซึ่งคาดว่านายมณเฑียรเป็นผู้เขียน หลุดออกสู่สาธารณะ เนื้อหาของจดหมายระบุถึงการปลุกขวัญทีมงานว่า "สูดลมหายใจเยอะ ๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อม ๆ กัน" พร้อมมีข้อความตัดพ้อว่า "เราไม่ได้รับความเป็นธรรม" และเน้นย้ำถึงความฝันในการมี "บ้านใหม่" หรือสำนักงานใหม่ที่ถาวรของ สตง.

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ คือ จดหมายนี้ไม่มีการกล่าวถึงความสูญเสียของคนงานก่อสร้างหรือความเดือดร้อนของครอบครัวผู้ประสบภัยเลยแม้แต่น้อย

จดหมายนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงที่สังคมกำลังโศกเศร้าและลุ้นการช่วยชีวิตคนงาน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงทำงานแข่งกับเวลา ทำให้เกิดกระแสตีกลับอย่างรุนแรง

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภากลุ่มประชาสังคม และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิจารณ์ว่า "การพูดถึงความฝันของการมีบ้านหลังใหม่ของ สตง. เทียบไม่ได้เลยกับแรงบีบคั้นในหัวใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นความเจ็บปวดที่ไม่อาจประเมินค่าได้" ขณะที่ ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผู้ว่าฯ สตง. ต้องการให้กำลังใจคนในองค์กร แต่กลับลืมพูดถึงความสูญเสียของชีวิตจากอาคารที่ถล่ม และยังมี 70 ชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซาก ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ต้องเร่งช่วยเหลือ แทนที่จะได้กำลังใจ กลับกลายเป็นถูกวิจารณ์หนัก"

เหตุการณ์ตึกถล่มจากแผ่นดินไหวเมียนมา บททดสอบแรกที่ท้าทายความสามารถในการบริหารวิกฤตและการสื่อสาร ในสภาวการณ์ที่ สตง. เปลี่ยนจากบทบาทผู้ตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินของผู้อื่น กลายเป็นผู้ถูกตรวจสอบจากสังคม ในประเด็นความโปร่งใสและความรับผิดชอบของโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่า 2,136 ล้านบาท และจดหมายเวียนที่สะท้อนถึงความพยายามของนายมณเฑียรในการปลุกขวัญและกำลังใจให้บุคลากรในองค์กรที่อาจรู้สึกท้อแท้จากเหตุการณ์ แต่การขาดการกล่าวถึงความสูญเสียของชีวิตและการมุ่งเน้นที่ "ความฝัน" ขององค์กรมากกว่าความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย

แม้จดหมายนี้จะเป็นเอกสารภายในและถูกยกเลิกในภายหลัง แต่ภาพลักษณ์ของ สตง. และนายมณเฑียรได้ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความรับผิดชอบของผู้นำองค์กรที่ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้

อ่านข่าวเพิ่ม :

สตง.ต้องปกป้องงบแผ่นดิน ทัวร์ลงหนักจดหมายเวียนผู้ว่าฯ

“ซิน เคอ หยวน” สตีล บริษัทผลิตเหล็กก่อสร้าง “ทุนจีน-หุ้นไทย”

หวังพบผู้รอด! “ชัชชาติ” ระดม จนท.กู้ภัย ขุดโพรงจุดพบสัญญาณชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง