อควาเรียมหอยสังข์ หรือ โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา สร้างบนพื้นที่ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ และการเพาะขยายพันธุ์ที่มีความทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาวิจัย และจำลองระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา
มีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นผู้เสนอโครงการ ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งปี 2551 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2554 ในวงเงินประมาณมากกว่า 800 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ สภาพทิ้งร้าง
อ่านเพิ่มเติมได้จากตอนที่แล้ว เปิดภาพล่าสุด "อควาเรียมหอยสังข์" จ.สงขลา
เกิดอะไรขึ้นบ้างกับ อควาเรียมหอยสังข์ ทำไม 14 ปี ถึงสร้างไม่เสร็จ
- พ.ศ. 2536 เริ่มมีการวางแผน สำรวจ จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว
- พ.ศ. 2546-2448 มีกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา”
- พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้นำผลจากโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบสงขลา มาปรับปรุงและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเสนอเป็น “โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” หรือ อควาเรียมหอยสังข์ เพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มเติม ด้านการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล พร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550
- พ.ศ. 2550 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 838,562 บาท รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการ “ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” และลงนามว่าจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้าง
- พ.ศ. 2551 หลังเริ่มก่อสร้างได้ไม่นาน เกิดข้อถกเถียงด้านงานวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ทำให้โครงการต้องหยุดการก่อสร้างชั่วคราว
- พ.ศ. 2552 กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงปัญหาการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยอ้างว่ามีปัญหาข้อโต้แย้งในสัญญา
- พ.ศ. 2558-2560 เพิ่มงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอาคารอนุบาลสัตว์น้ำ และพื้นที่โดยรอบ วงเงิน 381,525,000 บาท
- พ.ศ. 2561 ของบประมาณเพิ่ม เพื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จ 286,259,000 บาท
- ปัจจุบัน พ.ศ.2565 ใช้งบประมาณการก่อสร้างไปแล้วกว่า 1,400,000,000 บาท โครงการยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ “สภาพทิ้งร้าง”