วันนี้ (1 เม.ย.2565) นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า จากการรวบรวมข้อมูล "นกปรอดหัวโขน" พบว่า ในช่วงปี 2563 มีการลักลอบจับกุมลดลง เนื่องจากจำกัดการเคลื่อนที่ แต่ในปี 2564 สถิติจับกุมใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 คือ จับกุมนกปรอดหัวโขน 38 คดี ยึดนกได้ 500 ตัว
ในปี 2565 มีนัยยะสำคัญเพราะเพียง 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.- 28 มี.ค.มีการจับกุมทั้งหมด 15 คดี ได้ผู้ต้องหา 13 คน และยึดนกได้ 2,380 ตัว ซึ่งนกที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นลูกนก
เส้นทางค้า "นกปรอดหัวโขน" จากเหนือสู่ใต้
นายเผด็จ กล่าวถึงเส้นทางค้านกว่า นกกรงหัวจุกในภาคเหนือ มีปริมาณลดลง แต่การกระจายตัวยังมีอยู่ และยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ขณะที่นกสัตว์ป่าของกลาง ส่วนใหญ่พบลักลอบจับจากภาคเหนือ และเคลื่อนมาทางภาคใต้
จึงอนุมานได้ว่า เขารวบรวมจากที่เพาะพันธุ์ได้ แต่ไม่ใช่สถานที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และอีกกรณีไปล้วงรังจับในพื้นที่ป่า แต่ไม่น่าจะมาจากแหล่งเดียว เพราะจับได้ถึง 1,000 ตัว จึงยากที่จะชี้ชัดว่า มาจากธรรมชาติหรือแหล่งใด
ช่วยได้ 1,000 ตัว อัตรารอดต่ำแค่ 20%
นายเผด็จกล่าวอีกว่า การจับกุมยึดของกลาง นกหรือสัตว์ขนาดเล็ก มีอัตราการรอดชีวิตน้อยมาก อัตราการตาย ระหว่างเดินทางเพราะเป็นลูกนก ยังไม่โตเต็มวัย ต้องป้อนอาหาร 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง และถ้านำมาอนุบาลแล้วอัตราการตายจะลดลง เว้นแต่ว่าจะบอบช้ำระหว่างการเดินทาง อัตรารอดน้อย โอกาสเติบโตแข็งแรงคืนธรรมชาติได้ไม่มาก
มีอัตราการรอดชีวิตของนกของกลางอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่นกของกลาง มีขนาดเล็กและเป็นนกที่ยังไม่โตเต็มวัย ปัจจัยการเดินทางทำให้มีอัตราการตายจำนวนมาก และเมื่อนำมาอนุบาลแล้วจะกลับมาแข็งแรง เติบโต และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่มาก
ยกตัวอย่างกรณีที่ลักลอบขนนกกรงหัวจุก 1,000 ตัว แต่อาจจะรอดตายแค่ 200 ตัวเท่านั้น คนที่รักสัตว์เห็นข่าวในลักษณะนี้คงทำใจยากสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นได้ว่า หากเมื่อใดที่มีความสมดุลระหว่างสัตว์ที่เพาะพันธุ์ได้ เชื่อว่าคนจะหันมาหาของที่ถูกกฎหมายมากขึ้น
เมื่อถามว่า จากต้นทางถึงปลายทางราคาเท่าไหร่ นายเผด็จอธิบายว่า เนื่องจากตอนที่ได้มาไม่มีต้นทุน พ่อค้านกแค่ไปหาดักตามธรรมชาติ ราคาที่ปล่อยออกมาจะไม่สูง ใช้การรวบรวมได้จำนวนมากๆ ก็ลักลอบขนออกมาขาย ได้มาเท่าไรก็ไปขายแข่งกับกลุ่มที่เพาะพันธุ์ขายถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีต้นทุนในการสร้างกรง เลี้ยงดู
นกเถื่อนเหล่านี้ไปตีตลาดนกที่ได้รับการเพาะพันธุ์มาอย่างถูกต้อง เนื่องจากได้มาแบบง่าย ๆ ราคาจะถูก เหมือนกับราคาถูกได้ในราคาสูง เขาอาจจะมองว่าคุ้ม
อนุญาตเพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง 91,151 ตัว
นกทุกตัวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องมีหลักฐานการได้มา และเครื่องหมายทะเบียนห่วงขา จากกรมอุทยานฯ ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ (ม.ค.-มี.ค.65) รายงานว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์ ค้า ครอบครอง นกปรอดหัวโขน ในระบบ 91,151 ตัว จำแนกเป็น
- ผู้ขอเพาะพันธุ์ จำนวน 1,369 คน จำนวน 18,169 ตัว
- ผู้ขอค้า จำนวน 412 คน จำนวน 27,299 ตัว
- ผู้แจ้งครอบครอง 9,815 คน จำนวน 45,683 ตัว
ขณะที่ในแต่ละปี เจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีผู้ล่า ผู้ค้า และผู้ครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก คดีจับกุมปี 65 จำนวน 15 คดี ของนกกลาง 2,380 ตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหตุผล! มูลนิธิสืบฯ ค้านปลด "นกกรงหัวจุก"พ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง
ศอ.บต.ชงกรมอุทยานฯ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นบัญชีสัตว์สงวน