ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เคี้ยว "ใบกระท่อม" ไม่ดีด-แค่เมา

สังคม
2 ก.พ. 65
13:02
16,246
Logo Thai PBS
เคี้ยว "ใบกระท่อม" ไม่ดีด-แค่เมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์แผนไทยฯ คลายปมสงสัยนักแสดงหนุ่ม "บีม ศรัณยู" โชว์เคี้ยวใบกระท่อม แต่มีอาการคึกเกินเหตุ ยันใบกระท่อมไม่ได้ทำให้เกิดอาการ "ดีด" แนะควรใช้แต่พอดี สรรพคุณเด่น เป็นสมุนไพรช่วยลดความอ่อนล้า เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า

กรณีนักแสดงหนุ่ม “บีม ศรัณยู ประชากริช” ไลฟ์สดโชว์เคี้ยวใบกระท่อมไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นขณะขับรถ ขับเรือ ที่บางจังหวะก็ใช้มือเดียว บางจังหวะก็ใช้หัวเข่าขับ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ขณะที่เจ้าตัวออกมาไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊กชี้แจงทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว

ช่วงหนึ่งนักแสดงหนุ่มขอโทษต่อการกระทำที่ผ่านมาทั้งการขับรถเเละขับเรือ ยอมรับว่าก้าวผิดพลาดไปบ้าง ขอให้ตำหนิเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งก็ยินดีที่จะปรับ

นอกจากนี้นักแสดงหนุ่มยังโพสต์ใบเสร็จค่าปรับกรณีการขับขี่เรือด้วยความหวาดเสียว 5,000 บาท และริบใบช่างเครื่องและใบนายท้ายระยะเวลา 30 วัน พร้อมระบุว่า "ได้รับบทเรียนและความรู้เพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อย"

 

หลายคนดังคำถามต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่าที่นักแสดงหนุ่ม "บีม" กิน "ใบกระท่อม" ทำให้เกิดอาการกระปรี้กระเปร่า จนทำพฤติกรรมต่างๆ จริงหรือไม่

ใบกระท่อมไม่ทำให้ "ดีด"

ไทยพีบีเอสออนไลน์คุยกับ นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงการใช้ "ใบกระท่อม" ว่า ใบกระท่อมไม่ได้ออกฤทธิ์แบบกระตุ้นประสาท ดังนั้นจึงไม่มีอาการดีด สรรพคุณของใบกระท่อม ออกฤทธิ์เรื่องของการลดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจสดชื่น กระชุ่มกระชวย กระตุ้นประสาทบ้างเหมือน "กาแฟ" 

 

นพ.จักราวุธ อธิบายถึงอาการที่เรียกว่า "ดีด" ว่าเป็นอาการที่ระบบประสาท สมองถูกกระตุ้นมากไปจนทำงานมากเกินปกติ ในลักษณะเหมือนกับว่าอยู่เฉยไม่ได้ ควบคุมบางอย่างไม่ได้ อาการ "ดีด" มันเป็นฤทธิ์ของยาประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่ม ยาบ้า พอใช้ไปเหมือน "ม้าดีด" โผงผาง ทำอะไรไม่หยุด กำลังเยอะ อาการพวกนั้นเป็นอาการที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งคนละแบบกับ "กระท่อม"

หลายคนกินใบกระท่อมแล้วกระชุ่มกระชวย ทำให้รู้สึกเหมือนทำงานได้มาก นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้น ทำให้มีพลังงานออกมาใช้นี้คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่ามีพลังในการทำงาน

นพ.จักราวุธ แนะนำให้ใช้ใบกระท่อมแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีใช้ทั้งใบสด และใบแห้ง หากเป็นใบสดก็นำใบมารูดเอาก้านออกแล้วเคี้ยว ดูดน้ำกิน พอจืดจึงคายกากทิ้ง กินแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่ไม่ใช้การใช้เพื่อกระตุ้นประสาท

จำนวนใบที่ใช้ แต่ละคนจะไวกับตัวสารยาที่อยู่ในพืชไม่เท่ากัน หากเคี้ยวแนะนำครึ่งใบก่อน แล้วได้ฤทธิ์ที่ดีแล้วก็พอ หากยังไม่ดีขึ้นก็เคี้ยวต่อได้อีกใบ วันหนึ่งไม่ควรเกิน 2 ใบ

 

นพ.จักราวุธ กล่าวว่า ใช้ใบกระท่อมนานจนร่างกายเคยชินต้องเพิ่มจำนวนขึ้น บางคนกินถึงวันละ 10 - 20 ใบ คือ เคี้ยวเรื่อยๆ ทั้งวัน

สำหรับอาการ "เมากระท่อม" ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเบื้องต้นถึงปานกลางไม่มากนัก เพราะหากเคี้ยวไปแล้วเมาก็หยุด ซึ่งเมาท่อมเป็นแบบเมาเบื่อ เวียนหัว โคลงเคลง คลื่นไส้ ใจสั่น หน้ามืด 

ใบกระท่อมไม่ได้เป็นสมุนไพร ที่จะทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรง ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท คนกินเพื่อหวังผล ได้ผลแล้วก็พอ

 

ผลข้างเคียงแค่เมา-เวียนหัว หยุดใช้กินน้ำเปล่าแก้ได้

นพ.จักราวุธ กล่าวถึงอาการข้างเคียงหลังการใช้อาจจะมีอาการมึน งง เมา และเวียนหัว ซึ่งหากใช้ในปริมาณมากจะเกิดอาการ "เมา" คือ รู้สึกกล้ามเนื้อสั่น ตัวสั่น และหากใช้มากเกินไปจะมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว ความดันลดลง หน้ามืด ซึ่งหากมีอาการแบบนี้ให้หยุดใช้ทันที แล้วดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ และดื่มน้ำหวานเสริมเข้าไป

ใบกระท่อมหากใช้ในระยะเวลานานและมากขึ้นจะทำให้ติดได้ หากไม่ได้ใช้จะมีอาการหงุดหงิด ปวดเมื่อย กระวนกระวาย 

ร่างกายแต่ละคนจะมีอาการทนต่อสารในใบกระท่อมได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับร่างกายและความเคยชิน หากใช้ได้พอดี ใช้เฉพาะเวลามีอาการ จะดีและไม่ติด

นพ.จักราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เพียงแค่ใบกระท่อม ในการใช้สมุนไพรทุกชนิดควรศึกษาฤทธิ์และสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนั้นให้ดีก่อนว่าช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้ในเรื่องใดบ้าง ควรใช้ปริมาณแค่ไหนที่ไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย รวมไปถึงวิธีการใช้ต้องใช้อย่างไรถึงจะเหมาะสม  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บีม ศรัณยู" จ่ายค่าปรับ 5,000 บาท ขับขี่เรือหวาดเสียว

ผจก."บีม ศรัณยู" ชี้แจงกินกระท่อม-ซิ่งเรือเรียกยอดเฟซบุ๊ก

ตร.ตั้ง 3 ข้อหา "บีม ศรัณยู" ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง