ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คลินิกสุขภาพเพศ" บอกได้ ข้ามเพศให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ฉีดฮอร์โมน

สังคม
21 ธ.ค. 64
12:00
1,383
Logo Thai PBS
"คลินิกสุขภาพเพศ" บอกได้ ข้ามเพศให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ฉีดฮอร์โมน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเลือกข้ามเพศไม่ใช่เพียงแค่ซื้อฮอร์โมนมาฉีดเองได้ "คลินิกสุขภาพเพศ" จุฬาฯ ให้คำปรึกษาคนข้ามเพศ ทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ คนข้ามเพศใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ก่อนนี้ไม่มีคลินิกทางด้านนี้ คนไข้จะใช้ยาฮอร์โมนอย่างไม่มีมาตรฐาน  ฉีดฮอร์โมนกันเอง หรือไม่ก็กินยาคุมกำเนิด ตามที่เพื่อนแนะนำ ซึ่งเสี่ยงอันตราย ศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ เพื่อคนข้ามเพศ จึงมีความจำเป็น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ หาคำตอบจาก รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ  ถึงความเข้าใจ "คนข้ามเพศ" ให้มากกว่าเดิม

รศ.นพ.กระเษียร อธิบายว่า มนุษย์ไม่ได้มีเพียงเพศชายหญิง หากจะยกตัวอย่าง บางคนชอบสีเขียว บางคนชอบสีดำ สีขาว หรือแม้แต่รสนิยมในการกิน ก็ยังไม่เหมือนกัน จะเห็นได้ว่ามนุษย์มีความคิดในสมองที่ซับซ้อนมาก รสนิยมเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา และเลือกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เรื่องเพศก็เช่นเดียวกัน

 

ในขณะที่บางคนเกิดมากลับมีอวัยวะเพศกำกวม ดูไม่ออกว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เนื่องจากมีอวัยวะเพศสองอย่างอยู่ในคนคนเดียวกัน มีรูปร่างเป็นผู้ชาย แต่มีรังไข่ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สิ่งที่เขาเลือกที่จะเป็น คำว่า เพศเหมือนกันแต่เรียกว่า เจนเดอร์ (Gender)

ฉะนั้น เจนเดอร์ เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่า อยากจะเป็นแบบไหน จึงมีคำจำกัดความว่า LGBTQ เกิดขึ้น เช่น “เกย์ เลสเบี้ยน” รวมทั้งคำว่า (Transgender) หรือ "บุคคลข้ามเพศ" คือ รู้ตัวมาตั้งแต่กำเนิด ตั้งแต่จำความได้ว่า เขาเกิดผิดร่าง เกิดผิดเพศ แล้วอยากจะแปลงไปเป็นอีกร่างหนึ่ง

กลุ่มที่จากชายอยากเป็นหญิง เรียกว่า หญิงข้ามเพศ และ หญิงเป็นชายเรียกชายข้ามเพศ แต่บางคนไม่ใช่ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน ก็คือพอใจในสภาพของตนเอง เช่น เกย์ ก็อยากจะเป็นผู้ชาย รสนิยมก็ยังเป็นผู้ชาย แต่มีรสนิยมที่จะชอบเพศเดียวกัน

“กลุ่มข้ามเพศ” ถูกเลือกปฎิบัติ

ในอดีตอาจมีคนเคยมองว่าการเป็นคนที่อยู่ใน “เพศทางเลือก” หรือ “คนข้ามเพศ” เป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งความคิดเหล่านี้ถูกครอบด้วย บรรทัดฐานทางสังคม หลายครั้งเกิดการเลือกปฎิบัติ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้รับ

รศ.นพ.กระเษียร กล่าวว่า ในอดีตสังคมยังไม่เปิดกว้างและยอมรับ ทำให้กลุ่มคนในเพศทางเลือก ไปไหนก็จะถูกเยาะเย้ย บางคนถูกแสดงออกว่า รังเกียจ หลายครั้งกระทบต่อสภาพจิตใจ เข้าห้องน้ำก็ไม่รู้ว่าจะเข้าห้องน้ำหญิงหรือชายดี

กฎหมายก็ไม่เคยบอกว่า การที่จะไปเป็นอีกเพศ ผิดกฎหมาย ซึ่งบุคคลเหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเป็นรสนิยมของแต่ละคน

เรื่องของ “สุขภาพเพศ” นับเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และไม่มีการดูแลกันมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศไทย เรียกง่าย ๆ คือ อยู่ใต้โต๊ะ ไม่ได้อยู่บนโต๊ะ บุคคลกลุ่มนี้มีสิทธิเสรีภาพเท่ากับประชาชนคนไทยทุกคน มีสิทธิในการเข้ารับบริการที่เหมือนคนอื่น

สังคมควรจะต้องเปิดกว้าง ใน พ.ศ.นี้ และควรจะต้องมีการยอมรับว่า เรามีบุคคลกลุ่มนี้อยู่ในสังคม คนกลุ่มนี้ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำอย่างไรให้มีการดูแล และเขาเลือกเพศสภาพ ในสิ่งที่เขาเป็น อย่างปลอดภัย และมีชีวิตอยู่ในสังคม เป็นที่ยอมรับและมีความสุข 

หมอแนะ ควรดูแล “คนข้ามเพศ” อย่างถูกวิธี

ปัจจุบันมีการยอมรับเพศสภาพที่บุคคลนั้นเป็นมากขึ้น แต่การดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้จัดตั้ง "คลินิกสุขภาพเพศ" เพื่อให้บริการแก่บุคคลข้ามเพศ และผู้ที่มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบ โดยทำงานร่วมกันของทีมแพทย์สหสาขา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำปรึกษา ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ มีการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาทางกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง

 

รศ.นพ.กระเษียร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนไข้จะใช้ฮอร์โมนอย่างไม่มีมาตรฐาน หาฉีดกันเองตามที่เพื่อนแนะนำ บางคนค้นหาข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต แล้วตัดสินใจสั่งซื้อเลย แต่นั้นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก 

เมื่อก่อนคนที่อยากจะเป็นเพศหญิง ไปซื้อฮอร์โมนมาฉีดเอง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก้นเน่า แขนเน่า บางคนร้ายแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด

เห็นได้ชัดว่า ก่อนที่จะให้ฮอร์โมน ต้องวินิจฉัยให้ชัดเจนด้วยเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละคนมีความเหมาะสมกับปริมาณฮอร์โมนที่แตกต่างกัน การให้ยาและปรับขนาดยา จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรไปหามาฉีดเอง

ส่วนผลข้างเคียง หากไม่ปรึกษาแพทย์อาจไม่ปลอดภัย เช่น เกิดเส้นเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับ หรือ กระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม

หาความรู้ก่อนใช้ฮอร์โมน เพื่อเปลี่ยนตัวเอง

“การเทคฮอร์โมน” ในกลุ่มคนข้ามเพศ คือการนำฮอร์โมนเพศที่ต้องการเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

รศ.นพ.กระเษียร ยกตัวอย่างกรณีที่มีคนซื้อ "ฮอร์โมนเพศชาย" มาฉีดเอง โดยที่ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการใช้เข็มดูดยาขึ้นมา ฉีดยาจะทำอย่างไรให้ปลอดจากเชื้อ ขณะที่เข็มใช้แล้วก็ยังนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสโลหิต

บางกรณีใช้ฮอร์โมนสำหรับเพศหญิงเกินขนาดก็มี ทำให้เกิดผลต่อตับ สมอง และอาจทำให้เกิดเนื้องอกชนิดหนึ่งได้ ใช้ฮอร์โมนเพศชาย ประจำเดือนจะหายไป สะโพกแฟบลง เริ่มลงพุง ใช้นานทำให้ผมร่วง เป็นผู้ชายหัวล้าน ซึ่งการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ การแปลงเป็นไม่ใช้เรื่องง่าย ต้องมีการดูแลตั้งแต่หัวจรดเท้า

รศ.นพ.กระเษียร กล่าวว่า ชายจะเป็นหญิงจะทำอย่างไร ให้เป็นผู้หญิงที่มีหุ่นสวยงาม ผิวพรรณดีไม่มีสิว อย่างผู้ชายอยากเป็นหญิงต้องผ่าองคชาตออก ลูกอัณฑะ ทำช่องคลอดใหม่ แล้วช่องคลอดนั้นจะต้องใช้ได้ด้วย มีเพศสัมพันธ์ได้ และจะต้องดูแลช่องคลอดใหม่ของตนเองอย่างไร

ช่องคลอดใหม่ของหญิงข้ามเพศ ไม่เหมือนกับช่องคลอดของหญิงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุผิว เชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในช่องคลอดมันต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นตรงนี้เป็นศิลปะในการดูแล

การดูแลคนกลุ่มนี้ต้องมีแพทย์ครบทุกด้าน

ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ มีทีมแพทย์ครบทุกสาขา นอกจากสูตินารีเวช ที่ดูแลเรื่องคลินิกสุขภาพเพศ เรื่องการตรวจภายใน ยังมีศัลยแพทย์ตกแต่ง ศัลยแพทย์ลำไส์ และทีมหมอที่ดูแลเรื่องต่อมไร้ท่อ ของการใช้ฮอร์โมนต่าง ๆ ทั้งอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ รวมทั้งจิตแพทย์ ก็มีอยู่เช่นกัน การตั้งคลินิกสุขภาพแพทย์ต้องครบวงจร

หากคนคนหนึ่งอยากจะเปลี่ยนเพศ ต้องมีการวางแผน ชายอยากจะเปลี่ยนเพศ ต้องดูว่า เขาดำรงชีวิตอยู่ในเพศตรงข้ามมานานเท่าไร ต้องส่งพบจิตแพทย์ประเมินว่า คนนี้ประเมินดูแล้วสมควรเปลี่ยนหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจ

ตรงนี้เราต้องมีจิตแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ว่า คนคนนี้พร้อมที่จะเปลี่ยนไหม จิตใจเขาอยากเปลี่ยนสภาพจากชายเป็นหญิงแล้วหรือไม่ เมื่อจิตแพทย์บอกว่าพร้อมแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป ทั้งการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ การปรึกษาศัลยกรรม

ผู้ชายจะเป็นหญิงต้องไปเสริมเต้านม ตัดอวัยวะแพทย์ชายทิ้ง ทำช่องคลอดใหม่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ หรือแม้กระทั่งหญิงจะเป็นชาย หญิงมีมดลูดรังไข่ ทีมของเราเองซึ่งเป็นทีมสูตินารีแพทย์ ก็ทำหน้าที่ผ่าตัดส่องกล้อง ตัดมดลูกกับรังไข่ให้ ขั้นตอนถัดไปก็ต้องส่งไปทำศัลยกรรมเต้านม ตัดเต้านมออก เพราะเขาต้องการที่จะเป็นเพศชาย

แพทย์ต้องวิจัยและเรียนรู้เพื่อพัฒนาตลอดเวลา

นอกจากนี้ จะมีการต่อยอดเรื่องของงานวิจัย เพราะคนไทยมีร่างกาย โรคประจำตัว ไม่เหมือนต่างชาติ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีงานวิจัยในคนกลุ่มนี้ด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพในการให้บริการทางการแพทย์ เพราะยังมีคำถามมากมายที่ยังหาคำตอบไม่ได้ จึงต้องทำงานวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง

เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน

"แปลงเพศ" เปลี่ยนกายให้ตรงใจ แต่ใช่ว่าจะถึงฝันในทุกคน

"เบี่ยงเบนทางเพศ" สื่อภายนอกไม่สำคัญเท่าจิตใจ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง