ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง

สังคม
17 ธ.ค. 64
16:32
1,009
Logo Thai PBS
ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ"  พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ + ในสังคมไทยปรากฏมานานแล้ว โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปิดกว้าง และยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น แต่ในแง่ของความเข้าใจ ยังคงเป็นปัญหา

เราเข้าใจ “คนข้ามเพศ” มากแค่ไหน 

ตามที่ นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทยคือ คนไม่เข้าใจว่า ตนเองเป็นคนข้ามเพศ หรือเป็น LGBTQ+ หรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมีความซับซ้อน

การพบแพทย์ในช่วง 2-3 ครั้งแรก อาจยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ทั้งหมด เช่น คนข้ามเพศ 1 ใน 5 โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศ จะมีภาวะซึมเศร้าและมีโรควิตกกังวลสูงกว่าคนทั่วไป

ในขณะที่ผู้รับบริการเข้าใจว่าเป็นบุคคลข้ามเพศนั้น แท้จริงแล้วอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งจิตแพทย์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยตรวจวินิจฉัยว่า เป็นบุคคลข้ามเพศจริงหรือไม่ ก่อนที่ให้ยาและวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป

คนข้ามเพศป่วยซึมเศร้าสูง

นพ.อัมรินทร์กล่าวว่า คนข้ามเพศมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าบุคคลทั่วไป

จากการวิจัยของจุฬาฯ พบปัญหาโรคซึมเศร้าในสตรีข้ามเพศ 22 % ชายข้ามเพศ 14 % ซึ่งค่อนข้างมากกว่าในคนทั่วไป โดยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ครอบครัว สังคม และการได้รับการยอมรับ เช่น ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน

หลายแห่งก็ไม่ได้เปิดรับกลุ่มคนข้ามเพศมากนัก โดยไม่ได้เทคแคร์เช่นเดียวกับบุคคลปกติ ซึ่งแท้จริงแล้ว การเป็นบุคคลข้ามเพศไม่ได้ผิดปกติ แต่เป็นความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ซึ่งสังคมต้องเปลี่ยนความเชื่อและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ ซึ่งจะทำให้มีความสุขกับทุกฝ่าย

“สตรีข้ามเพศ” อายุสั้นเพราะใช้ฮอร์โมนผิดวิธี

นอกจากนี้ ในช่วงที่ 20 -30 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้หาความรู้ในกลุ่มของตัวเอง ซึ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้ “กลุ่มสตรีข้ามเพศ” จะมีค่าเฉลี่ยอายุสั้น เพราะใช้ฮอร์โมนผิดชนิดหรือผิดวิธี เช่น เมื่อเริ่มโตก็มักไปซื้อยาคุมกำเนิดกินเอง และกินปริมาณมาก เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเนื่องจากยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน เอสทรานิล เอสตาไดอัล ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือด

เมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็มีความเสี่ยงของ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma virus) หรือ HPV, ซิฟิลิส, หนองใน หรือ โรคอื่น ๆ

เมื่อไม่มีความรู้ที่ดีพอหรือไม่กล้ามาปรึกษาแพทย์ เนื่องจากในอดีตสังคมไม่ได้เปิดรับทำให้การดูแลอาจจะแย่กว่าคนทั่วไป สุขภาพก็จะแย่ ขาดการยอมรับจากครอบครัว สังคม ก็อาจทำให้มีการฆ่าตัวตายสูง ในอดีตอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไป

เชื่อว่าในปัจจุบันดีขึ้นเพราะการสังคมเปิดมากขึ้น การดูแลทางการแพทย์ดีขึ้น ครอบครัวเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ก็จะเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ 

นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความซับซ้อนเป็นเรื่องปกติ

นพ.อัมรินทร์กล่าวด้วยว่า ความซับซ้อนทางเพศถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมายังพบในกรณีของกลุ่มคนข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศ เช่น ผู้ชายข้ามเพศ ที่เกิดเป็นหญิง และยังมีช่องคลอด และหากมีความรู้สึกชอบการร่วมเพศกับผู้ชายไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเพียง Sexual Preferences รสนิยมทางเพศ ในแบบ ไบเซ็กชวล (Bisexual) ซึ่งนี่คือความหลากหลายไม่ใช่สิ่งผิดปกติ 

แม้ท่านมีช่องคลอด แต่ก็อยากเป็นผู้ชาย ซึ่งเรายอมรับว่าท่านเป็นผู้ชาย เหมือนที่ท่านต้องการ แต่หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายท่านก็ต้องคุมกำเนิด เพราะโอกาสตั้งครรภ์ได้ เรื่องเหล่านี้ต้องให้ความรู้กับสังคม ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และเป็นความหลากหลาย

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนข้ามเพศ นั้นมีต้องการที่จะมีบุตรใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป ฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มการรักษาทั้งการให้ฮอร์โมน หรือ ผ่าตัดแปลงเพศ อาจมีทางเลือกในการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ไว้ก่อน และใช้เซลล์สืบพันธุ์ของเขาเองทำให้เกิดการปฏิสนธิและทำให้เกิดการตั้งครรภ์ (เด็กหลอดแก้ว)

การนำเซลล์สืบพันธุ์มาปฏิสนธิ (เด็กหลอดแก้ว) ยังต้องใช้ทะเบียนสมรส เพราะฉะนั้นการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ก็ยังไม่รับปากได้ว่า อาจจะนำปฏิสนธิมาทำเด็กหลอดแก้ว หรือตั้งครรภ์ได้ตามกฎหมายได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่ได้ อนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของกฎระเบียบกฎหมาย ซึ่งต้องติดตามต่อไป

สังคมยอมรับมากขึ้น

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเปิดมากขึ้น ฉะนั้นในครอบครัว เจอหลายกรณี ที่พาลูกมาพบแพทย์และบอกว่า ยอมรับถ้าลูกเป็นคนข้ามเพศ แต่ก็ร้องไห้นะครับ แต่ก็ยังมองได้ว่าสังคมกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้น พ่อแม่ที่เป็นเจนเนอเรชั่นเก่า ๆ อาจจะเริ่มยอมรับความหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ต้องให้โอกาสพ่อแม่เหล่านั้นในการปรับตัวด้วย

นพ.อัมรันทร์ ยังระบุว่า ในช่วง 30-40 ปีที่แล้ว อาจจะไม่เข้าใจ แต่ในขณะนี้อาจเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้น โดยโรงเรียน สถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมกัน กลุ่มคนข้ามเพศมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่า ในอดีตยังไม่มีการศึกษาและศึกษาทำได้ยาก เพราะคนยังไม่ยอมรับ ขณะที่ไทยอาจจะเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน ด้วยซ้ำที่ยอมรับเรื่องนี้ การยอมรับในตัวตนทำได้ดีขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง