ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน

สังคม
17 ธ.ค. 64
16:28
475
Logo Thai PBS
เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์เตือน สตรีข้ามเพศเทคยาคุมเองมีความเสี่ยง แนะปรึกษาแพทย์รับฮอร์โมนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดดำอุดตัน

นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตคนข้ามเพศในไทยมีเป็นจำนวนมาก แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนยังไปไม่ถึง

เพราะขณะนี้ทราบแล้วว่า ยาฮอร์โมนบางกลุ่มไม่เหมาะกับคนข้ามเพศ เช่น กรณีกลุ่มหญิงข้ามเพศ (ชายกลายเป็นหญิง) ยังคงใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งฮอร์โมนมาตรฐานที่ใช้ไม่ใช่ยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) จะมีอยู่หลายชนิดมาก ตัวที่อยู่ในยาคุมกำเนิด (Ethinyl Estradiol) เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ สูงกว่าตัวที่ใช้ในปัจจุบันประมาณ 20 เท่า เป็นสาเหตุที่ผู้หญิงข้ามเพศในอดีตเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปพอสมควร จึงต้องการให้มาปรึกษาแพทย์ และใช้ยาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด 

เปลี่ยนวิธีรักษาบุคคลข้ามเพศ 

นพ.อัมรินทร์กล่าวว่า เมื่อก่อนเชื่อว่า การรักษาคนข้ามเพศจะต้องรักษาด้วย “พฤติกรรมบำบัด” บางคนเมื่อทราบว่าลูกตนเองเป็นคนข้ามเพศ ก็จัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้เล่นกับเพื่อน ให้แยกตัวจากสังคม หรือพาไปพบแพทย์เพราะคิดว่าเด็กเข้าใจผิด ซึ่งขณะนี้การรักษาคนข้ามเพศ ทราบกันแล้วว่า การรักษาแบบนั้นไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ในทางตรงข้ามหากเขามีความกดดันจากครอบครัวจากสังคม อาจทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งในกลุ่มนี้พบมากทีเดียว

การรักษาในปัจจุบัน หากพิสูจน์แล้วว่า เป็นบุคคลข้ามเพศจริง ๆ จะเป็นการรักษาร่างกายเพื่อเปลี่ยนให้เป็นเหมือนกับสิ่งที่เขาคิด

การให้ฮอร์โมนจึงเป็นการทำให้ลักษณะภายนอกเหมือนกับสิ่งที่เขาต้องการ และเมื่อร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง จิตใจของเขาก็จะดีขึ้น มีข้อมูลว่าการให้ฮอร์โมนข้ามเพศ แม้ว่าจะยังไม่ผ่าตัดก็ทำให้สภาวะจิตใจดีขึ้น

นอกเหนือจากความพึงพอใจของผู้รับบริการแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งอาจจะให้ฮอร์โมนไม่ได้ในทุกคน เช่น ในคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือคนไข้ที่มีหลอดเลือดดำอุดตัน

ก่อนที่จะให้ฮอร์โมนข้ามเพศ แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้แน่นอน เนื่องจากการให้ฮอร์โมนอาจส่งผลในระยะยาวต่อผู้รับบริการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดไปแล้วเอาคืนไม่ได้

นพ.อัมรินทร์กล่าวว่า ก่อนที่จะให้ฮอร์โมนต้องวินิจฉัยให้ชัดเจน และพิจารณาข้อบ่งห้ามว่า ผู้รับบริการมีข้อห้ามในการรับฮอร์โมนหรือไม่ เพราะผู้รับบริการทุกคน มีความเหมาะสมกับปริมาณฮอร์โมนแตกต่างกัน ซึ่งการให้ยาและปรับขนาดยาถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนไม่ควรเริ่มเองและมอนิเตอร์เอง ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา

คนข้ามเพศเป็นในสิ่งที่ร่างกายของเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เหมือนถูกกักขังในร่างกายที่ไม่ใช่เพศของเขา ดังนั้นการปรับความเข้าใจ การที่สังคมให้ความเข้าใจ ครอบครัว สังคม ให้โอกาส นี่คือการรักษาที่แต่ละคนจะจบไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทุกคน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกคน ต้องมานั่งคุยกันว่า แต่ละคนมีเป้าหมายอยู่ตรงไหนและปรับให้เหมาะสม

รวมถึง ระยะเวลาในการตอบสนองต่อฮอร์โมน แต่ละคนตอบสนองไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น กรณี สตรีข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งจะไปกดฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ความรู้สึกทางเพศหรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นจะมีการกระจายตัวของไขมันที่เปลี่ยนไป เช่น ไขมันไปสะสมที่หน้าอก สะโพก ก็จะมีความคล้ายกับผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งระยะเวลาแตกต่างกันออกไป

ข้อแตกต่างใช้ฮอร์โมนใน “เด็ก-ผู้ใหญ่”

อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนจะมีความแตกต่าง ในกรณีที่การให้ฮอร์โมนก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวกับคนที่เข้าสู่ภาวะหนุ่มสาวไปแล้ว ในกลุ่มแรกที่เป็นเด็กที่ยังไม่มีลักษณะทางเพศที่ชัดเจน การให้ยาจะเลียนแบบธรรมชาติ ให้มีการเปลี่ยนช้า ๆ การปรับยาจะเป็นทุก ๆ 6 เดือน เพราะมนุษย์การเข้าสู่ในระยะทุติยภูมิจะใช้เวลา 3-4 ปี จากนั้นจึงเพิ่มฮอร์โมนเพื่อลอกเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งกรณีที่มั่นใจว่าเป็นเพศตรงข้ามกับเพศกำเนิด

แต่กลุ่มที่มาปรึกษาส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ ซึ่งฮอร์โมนที่เขามีนั้นป็นสิ่งที่ไม่ต้องการก็อาจจะให้ฮอร์โมนที่เร็วขึ้นไม่จำเป็นต้องให้ขนาดยาที่ต่ำ โดยเริ่มในปริมาณยาที่สูงและปรับยาในทุก 4 - 6 เดือน ซึ่งมีความแตกต่างโดยในกลุ่มเด็กจะช้าและปริมาณต่ำ ถ้าผู้ใหญ่อาจจะมากกว่า

ความเสี่ยงใช้ฮอร์โมนในชาย-หญิง ข้ามเพศ

นพ.อัมรินทร์กล่าวต่อว่า ในการใช้ฮอร์โมนจะแตกต่างกันทั้งในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ชายข้ามเพศ โดยสูตรจะแตกต่างกัน เช่น กรณีผู้หญิงข้ามเพศ (ชายเปลี่ยนเป็นหญิง) อาจใช้ยาชนิดรับประทาน เนื่องจากคนไทยนิยมยารับประทาน

แต่กรณีมียาทาผ่านผิวหนัง หรือเป็นแผ่นแปะผ่านผิวหนัง เช่น ผู้หญิงข้ามเพศที่มีความเสี่ยงเช่น มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง และหากใช้ยาชนิดรับประทาน ก็อาจจะมีไขมันยิ่งสูงขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นยาชนิดทา หรือ กรณีความเสี่ยงหลอดเลือดดำอุดตัน ก็ใช้เอสโทรเจนชนิดทาจะเหมาะสมกว่า

ฮอร์โมนที่ใช้ไม่ได้ถูกผลิตมาเพื่อกลุ่มคนข้ามเพศ เนื่องจากเป็นยาที่ผลิตสำหรับสตรีที่หมดระดู หรือสตรีวัยทอง แต่เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่คล้ายกับธรรมชาติมาก จึงใช้ยากลุ่มนี้กับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ

ขณะที่กลุ่มผู้ชายข้ามเพศ (หญิงเปลี่ยนเป็นชาย) ยาชนิดรับประทานอาจดูดซึมไม่ดี ฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ปัจจุบันจะใช้ยาทาผ่านผิวหนังและชนิดฉีด โดยชนิดฉีดราคาจะถูกกว่า ชนิดเทสโทสเตอร์โรน อีนัลเทส (Testosterone enanthate) โดยส่วนใหญ่ใช้แบบนี้ โดยจะฉีดในทุกๆ 2-4 สัปดาห์และปรับยาตามความเหมาะสม

กรณีนี้ก็เช่นกัน ยาที่ใช้กับผู้ชายข้ามเพศ ไม่ได้ถูกผลิตมาใช้กับผู้ชายข้ามเพศ แต่ผลิตมาใช้กับกลุ่มชายวัยทอง แต่นำมาประยุกต์ใช้กับชายข้ามเพศ

ความเชื่อในการใช้ฮอร์โมนยังไม่อัพเดต

นพ.อัมรินทร์ ยังกล่าวว่า การใช้ยาในกลุ่มสตรีข้ามเพศ ส่วนใหญ่จะมีกลุ่มที่คุยกันเองระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง จริง ๆ อาจไม่ใช่เรื่องที่แย่ แต่อาจเป็นองค์ความรู้ที่ไม่อัพเดท หรือ ไม่ทันสมัย หรือ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ปัจจุบันดีขึ้น เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทยที่เพจ “คลินิกทางเพศ” จะอัพเดตข้อมูลความรู้เหล่านี้ลงไปเพื่อให้สามารถศึกษาทำความเข้าใจได้ ก็จะเป้นแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง และลดความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง