ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไม “กฤษณา” ไม้หอมยังมีราคาแพง และไม่เสื่อมความนิยม

สิ่งแวดล้อม
30 ก.ค. 64
12:53
29,628
Logo Thai PBS
ทำไม “กฤษณา” ไม้หอมยังมีราคาแพง และไม่เสื่อมความนิยม
เหตุใดไม้หอม “กฤษณา” จึงเป็นที่ต้องการ เฉพาะแก่นกฤษณาราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200,000 บาท ขณะที่การสำรวจปี 2550 พบไทยมีไม้กฤษณาตามป่าอนุรักษ์กว่า 397,000 ต้น

2 คดีลักลอบตัดไม้กฤษณาในป่าเขาใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.2564 นับเป็นการลักลอบตัดของป่าหวงห้ามที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกครั้ง

(อ่านข่าว : 2 วันติด! จับไทย-กัมพูชาลอบตัด "ไม้กฤษณา" บนเขาใหญ่)

ในแต่ละปีมีคนลักลอบเข้าไปขโมยไม้กฤษณาหลายราย และเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้หลายครั้ง

หลายคนอาจสงสัยว่า “ไม้กฤษณา” มีอะไรดี ทำไมจึงมีราคาแพง ให้คนเหล่านั้นยอมเสี่ยง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนหาคำตอบถึงสาเหตุที่ “ไม้กฤษณา” เป็นที่ต้องการของขบวนการลักลอบตัดไม้ และสำรวจพื้นที่ไม้กฤษณาในประเทศ ที่อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงให้ต้องเฝ้าระวัง

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เหตุใด “ไม้กฤษณา” ในป่าธรรมชาติจึงเป็นที่ต้องการ

ข้อมูลจากกลุ่มงานพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ระบุว่า สารกฤษณาที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้กฤษณา เป็นน้ำมันหอมระเหย หรือยางชันที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำหอม การแต่งกลิ่นยาสูบ และการทำผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการลักลอบตัดต้นกฤษณาในป่าธรรมชาติ จนทำให้ไม้ชนิดนี้มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์

สำหรับไม้กฤษณาที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 5 ชนิด คือ กฤษณา (Aquilaria crassna) ไม้หอม (Aquilaria malaccensis) กำแยหรือกาแย (Aquilaria subintegra) ไม้จาแน (Aquilaria hirta Ridl.) และกฤษณาดอยหรือกฤษณาพม่า (Aquilaria rugosa)

พันธุ์ไม้กฤษณาที่สร้างสารกฤษณาได้มีเพียง 2 ชนิดแรกเท่านั้น

“กฤษณา” เป็นสารพวกน้ำมันระเหย หรือชัน หรือยาง (terpenoid) เกิดจากขบวนการรักษาบาดแผลของต้นกฤษณา โดยการสร้างสารกฤษณามาที่บริเวณบาดแผล ทำให้เนื้อไม้เปลี่ยนจากสีขาว เป็นสีน้ำตาลไปจนถึงดำ และมีกลิ่นหอม ขณะที่การเกิดกฤษณาในธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลานาน

ราคา “แก่นกฤษณาสีดำ” สูงถึง กก.ละ 2 แสนบาท

ความต้องการกฤษณามีทั้งในและต่างประเทศ ในรูปของไม้แก่นกฤษณา ไม้สับ กากไม้ และน้ำหอม มีราคาแตกต่างกันในแต่ละส่วนและคุณภาพ เช่น

  • แก่นกฤษณาเกรด 1 สีดำ ราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 40,00-200,000 บาท ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา
  • เกรด 2 สีน้ำตาลเข้ม ราคากิโลกรัมละ 20,000-40,000 บาท
  • เกรด 3 สีน้ำตาล ราคากิโลกรัมละ 15,000-20,000 บาท
  • เกรด 4 สีน้ำตาลเป็นเส้นๆ ติดเนื้อไม้ ราคากิโลกรัมละ 5,000-15,000 บาท

แม้ว่าไม้กฤษณาจะไม่เป็นไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาถูกกำหนดให้เป็นของป่าหวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งจะเป็นของป่าหวงห้ามเฉพาะที่เกิดขึ้นในเขตป่าเท่านั้น แต่ในที่ดินที่ไม่ใช่ป่าก็จะไม่ใช่ของป่าหวงห้าม

ต้นไม้กฤษณาในที่ดิน “ป่า” ไม่ว่าจะเป็นไม้เดิม หรือไม้ที่ปลูกขึ้น จะต้องขออนุญาต “เก็บหาของป่าหวงห้าม” ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 29 และนำเคลื่อนที่ตามมาตรา 39 โดยมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับ

ต้นกฤษณาอยู่ที่ไหนบ้างในป่าอนุรักษ์ ?

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 กลุ่มงานสำรวจทรัพยากรป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการสำรวจพื้นที่ป่าประเทศไทย พบว่า มีต้นกฤษณา 397,411 ต้น กระจายอยู่ในป่าอนุรักษ์ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 24 แห่ง โดยพบมากที่สุดในแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 อันดับแรก ดังนี้

  • อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ พบไม้กฤษณา 68,655 ต้น
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ เนื้อที่กว่า 9.8 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 51,574 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก เนื้อที่กว่า 7.9 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 50,799 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่กว่า 1.7 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 35,352 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 2.9 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 30,202 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เนื้อที่กว่า 5.3 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 19,074 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติดอยหลวง จ.เชียงราย เนื้อที่กว่า 7.5 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 16,160 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติขุนแจ จ.เชียงราย เนื้อที่กว่า 1.7 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 15,650 ต้น
  • อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 15,364 ต้น
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง จ.พะเยา เนื้อที่กว่า 3.6 แสนไร่ พบไม้กฤษณา 11,729 ต้น

ป่าที่พบต้นกฤษณา 24 แห่งทั่วประเทศ จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังขบวนการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย เพราะไม้ชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นไม้หายากและมีราคาแพง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง