เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 เจ้าหน้าที่วัฒนธรรม จ.บุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้าง "อาณาจักรสีหนคร" ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่วัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า หนองบัวราย ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง


หลังมีการตั้งข้อสังเกตจากชาวกัมพูชา และมีการโพสต์ข้อความลักษณะไม่เห็นด้วยกับการออกแบบก่อสร้างวัดภูม่านฟ้า โดยอ้างว่าคล้ายคลึงกับปราสาทนครวัด นครธม ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของโลก ก่อนเกิดกระแสวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ในกัมพูชา
ขณะที่พระสมศักดิ์ สังวรจิตโต เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทศิลา เปิดเผยว่า การก่อสร้างเมืองสีหนคร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างปราสาทหินของคนในอดีตกับคนสมัยปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างกันเพียงเทคโนโลยี โดยรูปแบบมาจากจินตนาการหรือนิมิต ไม่ได้ลอกเลียนแบบจากสถานที่ใด


ด้านนายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบ เจ้าอาวาสชี้แจง เป็นการนำจุดเด่นของสถานที่ต่างๆ มาประยุกต์ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง รวมทั้งบูโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัด นครธม ตามที่ชาวกัมพูชาเข้าใจ
และจากการสอบถามสำนักศิลปากร ภาค 10 ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ห้ามก่อสร้างศิลปะเลียนแบบ แต่เพื่อความชัดเจน ต้องให้กรมศิลปากรตรวจสอบอีกครั้งว่ากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกี่ฉบับ และมีอะไรบ้าง เพื่อเกิดความเข้าใจถูกต้อง


ล่าสุด เอกสารของกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา ได้เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า กรณีได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการก่อสร้างวัดใน จ.บุรีรัมย์ ก่อนจะประสานความร่วมมือกับทางการไทยให้การตรวจสอบ
และสรุปว่า การก่อสร้างวัดภูม่านฟ้า ไม่ได้มีการลอกเลียนแบบการก่อสร้างนครวัด หรือวัดโบราณในกัมพูชา แต่มีเค้าโครงและออกแบบเอง ตามสถาปัตยกรรมของวัดบางพื้นที่

