ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้เขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทำให้เกิดหมอกควันหนามีปริมาณเกินมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ศาลปกครองเชียงใหม่แสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 (เชียงใหม่) และไต่สวนคู่กรณีเมื่อวันที่ 1 เม.ย.
ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 โดยเห็นว่า แม้จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน จะได้กำหนดแผนงานและมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่ยังไม่ลดปริมาณลงกลับมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นและต่อเนื่องยาวนาน โดยจะเห็นได้จากข้อมูลปริมาณ PM2.5 ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมของแต่ละจังหวัดดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2561-2564 ยังคงเกินมาตรฐานและต่อเนื่องในอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ตรวจพบ PM2.5 เกินกว่ามาตรฐานต่อเนื่องสูงสุดถึง 31 วัน และตรวจพบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อเนื่องสูงสุดสูงถึง 3-4 เท่า ของระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (สัญลักษณ์สีแดง) ซึ่งต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีแนวโน้มร้ายแรง ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับทราบถึงความรุนแรงของปัญหา PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศ รวมทั้งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด
เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว หากผู้ถูกฟ้องคดีคดีได้ประกาศกำหนดให้ท้องที่ทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็จะเกิดกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบโดยมีการจัดทำแผนงานการดำเนินการ ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษจาก PM2.5 อย่างจริงจังและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนงานและโครงการตามแผนงาน มีหน่วยงานติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์ประเมินผลของสภาพปัญหาและการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาแผนงานโครงการให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการดำเนินการตามแผนงานยังมีงบประมาณสนับสนุนแผนงานโครงการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ มีหน่วยงานในพื้นที่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งรู้ข้อมูลในพื้นที่ รู้ปัญหา และรู้ถึงแหล่งกำเนิดของมลพิษเป็นอย่างดีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและเป็นหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีงบประมาณเป็นของตนเองที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามแผนงานและโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการลดปัญหา PM2.5 ได้ โดยมีหน่วยงานของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมาช่วยให้ข้อแนะนำอีกด้วย ซึ่งย่อมจะส่งผลดีในการควบคุมตรวจสอบและติดตามผลโดยผู้บังคับบัญชาระดับสูง อันจะทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมยกระดับความสำคัญและสัมฤทธิ์ผลได้มากกว่าที่มอบให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายของแต่ละหน่วยงานกำหนดอย่างเช่นที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้บรรลุผลได้
อีกทั้ง การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมากกว่าที่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเศรษฐกิจ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงว่ากรณีปัญหา PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ยังไม่ถึงขนาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน และยังสามารถแก้ไขโดยวิธีการอื่น ไม่จำเป็นต้องประกาศให้ท้องที่ 4 จังหวัดดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและไม่สมเหตุสมผล จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทส.เตรียมยื่นอุทธรณ์
ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคำสั่งศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกาศให้ท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจาก PM2.5 ได้นั้น
กระทรวงฯ ได้รับทราบคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเคารพตามคำตัดสินของศาลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ทางกระทรวงฯ จำเป็นต้องดำเนินการอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษ เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อีกทั้งยังมีความละเอียดอ่อนทั้งในด้านของการพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การจัดทำแผนปฏิบัติการและการบริหารจัดการหลังการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมไปจนถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้กระทรวงฯ ได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงการประกาศเขตควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้แทนในการยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาดังกล่าว โดยมีกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้
นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีเป้าหมายลดค่าจุดความร้อน (Hot spot) ลงกว่าในปี 2563 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 นั้น พบว่า จากการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2564 สามารถดำเนินการลดค่าจุดความร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด แต่สำหรับค่า PM2.5 ที่มีค่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่ามีเหตุปัจจัยหลักมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษทำหนังสือเน้นย้ำไปถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อดำเนินการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่อย่างเข้มงวด